วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ศาลาลูกขุน

พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับศาลาลูกขุน

แต่ครั้งศักราช ๒๓๖ พระวัสสา มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระจุลนาคเถรอยู่ในเมืองลังกาทวีป ประกอบด้วยพระไตรปิฏกคิดจะให้พระสาสนารุ่งเรืองไปตราบเท่าถ้วนถึง ๕๐๐๐ พระวัสสา พระองค์จึงพิเคราะห์ด้วยเหตุจะสร้างรูปพระปฏิมากร จึงให้คนไปป่าวร้องชาวเมืองลังกาทวีปให้มาพร้อมกันแล้ว ให้ช่างปั้นรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัดถ์ทั้งสองขึ้นห้าม เมื่อพระยากบิลพัสดุ์ พระยาโกลีย ยกไพร่พลมารบกันริมน้ำโรหินี (ปางห้ามญาติ)ครั้นปั้นเสร็จแล้ว คนทั้งหลายก็เอาเงินแลทองคำ, แลทองแดง, ทองเหลืองมาให้พระจุลนาคเถรหล่อรูปพระปฏิมากร แล้วชาวเมืองลังกาก็พากันทำสักการบูชาต่าง ๆพระจุลนาคเถร พระยาลังกาพร้อมกันยกเอารูปพระปฏิมากรขึ้นตั้งไว้ในปราสาทขนานนามตั้งว่าพระบาง แล้วพระจุลนาคเถรจึงเชิญพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ ใส่ผอบแก้วขึ้นตั้งไว้บนอาศนทองตรงพระภักตร์พระบาง อธิฐานว่าพระบางองค์นี้จะได้เปนที่ไหว้ ที่บูชาแก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลายถาวรสืบไปถึง ๕๐๐๐ พระวัสสา ก็ขอให้พระบรมธาตุ ๕ พระองค์เสด็จเข้าสถิตย์อยู่ในรูปพระบางนั้น แล้ว พระบรมธาตุเสด็จเข้าอยู่ที่พระนลาตองค์ ๑ อยู่ที่พระหณุองค์๑ อยู่ที่พระอุระองค์๑ อยู่พระหัตถ์เบื้องขวาองค์๑ อยู่พระหัดถ์เบื้องซ้ายองค์ ๑ แล้วพระบางก็ทำปาฏิหารมหัศจรรย์ต่างๆ ได้มีการสมโภช๗ วัน ๗ คืน
ครั้นพระสาสนาล่วงมาถึง ๔๑๘ พระวัสสา พระยาสิบินราชได้เปนพระเจ้าแผ่นดินเมืองลังกาทวีป พระยาศรีจุลราชได้เปนเจ้าแผ่นดินเมืองอินทปัตนคร มีความเสนหารักใคร่แก่กัน พระยาศรีจุลราช จึงแต่งราชทูตถือพระราชสาสนลงสำเภาไปยังเมืองลังกาทวีป ขอเชิญพระบางมาทำสักการบูชา พระยาสุบินราชจึงเชิญพระบางมอบ ให้ราชทูตไปยังเมืองอินทปัตนคร แล้วเจ้าเมืองอินทปัตนครแห่พระบางขึ้นไว้ในพระวิหารกลางเมือง มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืนพระบางนั้นสูงแต่ฝ่าพระบาทถึงยอดพระเมาฬีสองศอกเจ็ดนิ้ว ทองหนัก ๔๒ ชั่ง ๑ ตำลึง
เดิมเมืองหลวงพระบางเรียกว่าเมืองศรีสัตนคนหุตล้านช้างร่มขาว เปนเมืองขึ้นกรุงปักกิ่ง มีเจ้าเมืองครอบครองบ้านเมืองต่อ ๆ กันมาครบ ๕ ปีต้องจัดเครื่องราชบรรณาการไปถวายครั้งหนึ่ง
ครั้นศักราช ๖๗๘ ปีเถาะอัฐศก พระยาสุวรรณคำผงได้เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ขุนยักษ์ฟ้า ๆ ทำชู้ด้วยภรรยาพระยาสุวรรณคำผง ๆ ขับไล่ขุนยักษ์ฟ้าไปเสียจากบ้านเมือง ขุนยักษ์ฟ้าพาภรรยากับบุตรคนหนึ่งชื่อ ท้าวฟ้างุ้ม ไปอยู่เมืองอินทปัตนคร ท้าวฟ้างุ้มได้นางคำยักษ์บุตรพระยาศรีจุลราชเจ้าเมืองอินทปัตนครเปนภรรยา อยู่มาเจ้าเมืองอินทปัตนครเกณฑ์กองทัพให้ท้าวฟ้างุ้ม ยกขึ้นไปถึงเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว  ครั้งนั้นท้าวคำย่อบุตรเจ้าเมืองพวนทำชู้ด้วยภรรยาของบิดา กลัวบิดาจะฆ่าเสีย หนีลงมาพึ่งท้าวฟ้างุ้มขอกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองพวนได้แล้วจะยอมเปนเมืองขึ้น ท้าวฟ้างุ้มจึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพวน ยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบโต้ตอบกันเปนสามารถ พวกเมืองพวนทนฝีมือไม่ได้ก็แตกกระจัดกระจายไป กองทัพท้าวฟ้างุ้มเข้าหักเอาเมืองได้ จึ่งตั้งท้าวคำย่อเปนเจ้าเมืองพวน เรียกว่าพระยาคำย่อ
ท้าวฟ้างุ้มกับพระยาคำย่อ ยกกองทัพกลับลงมาเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึงแต่งคนถือหนังสือไปถึงพระยาสุวรรณคำผงผู้เปนปู่ว่า จะขอเอาราชสมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาสุวรรณคำผงจึงเกณฑ์กองทัพออกรบต้านทานสู้กองทัพท้าวฟ้างุ้มไม่ได้ พระยาสุวรรณคำผงผูกฅอตายเสีย ท้าวฟ้างุ้มได้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่า
พระยาฟ้างุ้ม หัวเมืองใดตั้งขัดแข็งก็ยกกองทัพไปตีได้มาเปนเมืองขึ้นหลายเมือง แต่เมืองไผ่หนามปลูกก่อไผ่เปนระเนียด จะยิงปืนเท่าใดก็ไม่อาจทำลายได้ พระยาฟ้างุ้มจึงให้ทำกระสุนปืนด้วยทองคำยิงเข้าไปในเมือง แล้วผิตี่เลิกทัพกลับไป ราษฎรในเมืองไผ่หนามก็พากันถางกอไผ่เอากระสุนปืนทองคำ แล้วพระยาฟ้างุ้มกลับยกกองทัพมาตีก็หาแพ้ชะนะกันไม่ เจ้าเมืองไผ่หนามกับพระยาฟ้างุ้มยอมเปนทางไมตรีแก่กัน จึ่งเปลี่ยนชื่อพระยาเภาเจ้าเมืองไผ่หนามเปนพระยาเวียงคำ ตามเหตุที่ได้เอากระสุนปืนทองคำ ยิง อยู่มาเจ้าเมืองอินทปัตนครให้หาพระยาฟ้างุ้มบุตรเขย ลงไปเมืองอินทปัตนคร ให้โอวาทสั่งสอนไม่ให้ยกกองทัพไปเที่ยวตีนานาประเทศ ให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมรับศีลห้าในพระวิหารพระบาง แล้วยกเขตรแขวงเมืองอินทปัตนคร ตั้งแต่ลี่ผีขึ้นไปให้ขึ้นเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วพระยาฟ้างุ้มขอเชิญพระบางขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวด้วย ครั้นขึ้นไปถึงเมืองเวียงคำ พระยาเวียงคำขอเชิญพระบางไว้ทำสักการบูชา พระยาฟ้างุ้มจึงพา ไพร่พลขึ้นในเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาฟ้างุ้มมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อท้าวอุ่นเรือน อยู่มาพระยาฟ้างุ้มไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม ข่มเหงเอาภรรยาท้าวพระยามาเปนภรรยาของตัว ท้าวพระยาจึงพร้อมกันขับไล่ พระยาฟ้างุ้มหนีไปพึ่งพระยาคำตันเมืองน่าน พระยาฟ้างุ้มครองเมืองได้ ๔๑ ปี รวมอายุได้ ๗๐ ปีถึงแก่กรรมที่เมืองน่าน

ศักราช ๗๓๕ ปีชวดเบญจศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวอุ่นเรือนบุตรพระยาฟ้างุ้มขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่าพระยาสามแสนไทยไตรภูวนารถธิบดีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ท้าวอุ่นเรือนมีบุตรชาย ท้าวล้านคำแดง ๑ ท้าวคำปาก ๑ ท้าวฦาไชย ๑ ท้าวไชยสาร ๑ ท้าวฟ้ากริ่ม ๑ ท้าวหมื่นไชย ๑ ท้าวราชแสนไท ๑ เจ็ดคน ครั้งนั้นบ้านเมืองไม่มีทัพศึก พระยาสามแสนไทครองเมืองได้ ๔๓ ปี รวมอายุ ๖๐ ปีถึงแก่กรรม
ศักราช ๗๗๘ ปีมแมอัฐศก ท้าวล้านคำแดงบุตรพระยาสามแสนไทที่ ๑ ได้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ครั้งนั้นบ้านเมืองก็ไม่มีเหตุการสิ่งใด ท้าวล้านคำแดงมีบุตรชายท้าวยุขอน ๑ ท้าวพรหมทัต ๑ ท้าวล้านคำแดงครองเมืองได้ ๑๑ ปี รวมอายุได้ ๕๐ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๗๘๙ ปีมะเมียนพศก ท้าวพระยาพร้อมกันตั้งท้าวฦาไชยบุตรพระยาสามแสนไทที่ ๓ เปนพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวต่อมา ท้าวฦาไชยมีบุตรชาย ท้าวแท่งคำ ๑ ท้าวภูเพ ๑ สองคน แล้วพระไชย จักพรรดิแผ่นแผ้วให้ท้าวพระยาลงไปเชิญพระบาง ณ เมืองเวียงคำ ใส่เรือขึ้นมาถึงแก่งจันใต้เมืองเชียงคานเรือล่มพระบางจมน้ำหายไป อยู่มาพระบางก็กลับไปประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเมืองเวียงคำดังเก่า
แล้วญวนชื่อองบัวขว้างซุนเนิก ยกกองทัพมาตีเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วจัดกองทัพออกรบรับไม่ชนะ ต้องพาครอบครัวหนีลงมาเมืองเชียงคาน แล้วแต่งท้าวแท่งคำบุตรคุมกองทัพไปตีทัพองบัวขว้างซุนเนิกทนฝีมือไม่ได้แตกกระจัดกระจายไป พระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วครองเมืองได้ ๔๒ ปี รวมอายุ ๖๕ ปี ถึงแก่กรรมที่เมืองเชียงคาน

ครั้นศักราช ๘๓๑ ปีฉลูเอกศก ท้าวแท่งคำบุตรพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่าพระยาสุวรรณปาหลัง ครองเมืองได้ ๗ ปี ไม่มีบุตร อายุได้ ๔๑ ปี ถึงแก่กรรม
ศักราช ๘๓๘ ปีวอกอัฐศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวราชแสนไทบุตรพระยาสามแสนไทที่ ๗ เปนพระยาล่าน้ำแสนไทไตรภูวนารถเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วให้ท้าวพระยาไปเชิญพระบางที่เมืองเวียงคำ มาไว้วัดเชียงกลางเมืองศรสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาล่าน้ำแสนไทจึงสร้างพระวิหารหลังหนึ่งชื่อวัดมโนรมย์ เชิญพระบางมาประดิษฐานไว้ในวิหาร พระยาล่าน้ำมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อท้าวชมภู พระยาล่าน้ำครองเมืองได้๑๕ ปี รวมอายุ ๓๓ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๕๓ ปีกุนตรีศก ท้าวชมภูบุตรพระยาล่าน้ำได้เปนเจ้าเมือง ๕ ปี ไม่มีบุตร อายุได้ ๑๕ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๕๘ ปีมโรงอัฐศก ท้าวพระยาพร้อมกันยก ท้าวภูเพบุตรพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วที่ ๒ เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่าพระยาวิชุลราชธิบดี ๆ สร้างพระอุโบสถหลังหนึ่ง เชิญพระบางประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ วัดวิชุลราช พระยาวิชุลราชมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อท้าวโพธิสาระ พระยาวิชุบราชครองเมืองได้ ๒๐ ปีรวมอายุ ๕๓ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๗๘ ปีชวดอัฐศก ท้าวโพธิสาระบุตรพระยาวิชุลราชได้เปนเจ้าเมือง เรียกว่าพระยาโพธิสาระล้านช้างร่มขาว อยู่มาพระแซกคำเดิมอยู่ในพระวิหารวัดเมืองเชียงใหม่ เสด็จมาประดิษฐานอยู่ร่วมแท่นใหญ่กับพระบางที่วัดวิชุลราชธาราม เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาพรหมราชเจ้าเมืองเชียงใหม่รู้ว่าพระแซกคำหายไป จึงแต่งให้แสนท้าวคุมไพร่ ๒๐ คนไปเที่ยวหาตามหัวเมืองนานาประเทศ จึงแต่งให้แสนท้าวคุมไพร่ ๒๐ คนไปเที่ยวหาตามหัวเมืองนานาประเทศ มาพบพระแซกคำอยู่ในพระอุโบสถวัดวิชุลราชธาราม ครั้นดึกประมาณ ๒ ยามเสศ คนเมืองเชียงใหม่พากันตัดน่าต่างเข้าไปยกเอาพระแซกคำ พวกซึ่งรักษาอุโบสถตื่นขึ้นจับพวกเมืองเชียง ใหม่ได้ทั้ง ๒๐ คน พระยาโพธิสาระให้ยกโทษเสีย ปล่อยตัวกลับไปเมืองเชียงใหม่ พระยาพรหมราชเจ้าเชียงใหม่ทราบว่าเจ้าเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ในยุติธรรมเห็นแก่รพะยาพรหมราชจึงปล่อยตัวพวกซึ่งทำความผิดมาดังนี้ก็มีบุญคุณมาก จึงแต่งให้ท้าวพระยาพานางยอดคำบุตรไปยกให้เปนภรรยาพระยาโพธิสาระ ๆ มีบุตรชาย เจ้าเชษฐวงษา ๑ เจ้าทาเรือ ๑ เจ้าวรวังโส ๑ สามคน บุตรหญิงนางแก้วกุมรี ๑ นางคำเหลา ๑ นางคำไป ๑ สามคน รวม ๖ คน อยู่มาพระยาพรหมราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรม ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่นำความมาแจ้งแก่พระยาโพธิสาระ เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แลขอเจ้าเชษฐวงษาบุตรพระยาโพธิสาระที่ ๑ ขึ้นไปเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ เรีกว่าพระยาไชยเชษฐาธิราชพระยาโพธิสาระครองเมืองได้ ๒๘ ปี รวมอายุ ๔๒ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๐๖ ปีมะโรงฉศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงมอบเมืองเชียงใหม่ให้ท้าวพระยาอยู่รักษา พระไชยเชษฐาธิราชลงมาครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วเชิญพระแก้วมรกฏ เมืองเชียงใหม่ลงมาไว้เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองได้๖ปี
ครั้นศักราช๙๑๒ ปีจอโทศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงแต่งท้าวพระยาถือพระราชสาสน คุมเครื่องราชบรรณาการลงมากรุงศรีอยุทธยา ขอพระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าช้างเผือก ทรงนามว่าพระเทพกระษัตรี ขึ้นไปเปนปิ่นสุรางค์กัลยาในเมืองศรีสัตนาคนหุต สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงมีพระราชสาสนตอบขึ้นไปว่า ซึ่งเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุต มีพระไทยจะร่วมพระราชโลหิตเปนสัมพันธมิตรไมตรีนั้นก็อนุญาตให้แต่งผู้คนสิ่งของลงมารับเถิด พระไชยเชษฐาธิราชจึ่งแต่งทูตา นุทูตกับไพร่ ๕๐๐ ท้าวพระยานางเถ้าแก่ลงมารับ สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงส่งพระราชธิดาชื่อพระแก้วฟ้า ให้แก่ท้าวพระยาขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุต พระไชยเชษฐาธิราชรู้ว่าไม่ใช่องค์พระเทพกระษัตรีก็เสียใจ จึงมีราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตท้าวพระยานำแก้วฟ้าลงมาส่งยังกรุงศรีอยุทธยา ในพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กิติศัพท์เล่าฦาทั้งประเทศเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วพระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีขึ้นมานั้น ครั้นจะรับไว้ก็เปนที่อัปรยศแก่ท้าวพระยาแลราษฎรเมืองศรีสัตนาคนหุต ขอส่งพระแก้วฟ้าคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีตามอนุญาตแต่ก่อน

ในศักราช ๙๑๒ ปีจอโทศกนั้น พระไชยเชษฐาธิราชได้ขึ้นไปครองเมืองเชียงแสน ครั้นศักราช ๙๑๓ ปีกุนตรีศก สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงส่งพระเทพกระษัตรี ให้ราชทูตท้าวพระยานำขึ้นไปถึงนอกด่านเมืองเพชรบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงแต่งให้นายทัพนายกองมาตีชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปได้ พระไชยเชษ ฐาธิราชรู้ความแล้วก็โกรธว่าซึ่งพระเจ้าหงษาวดีแต่งรี้พลมาแย่งชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปทั้งนี้ ก็เพราะเมืองพระพิศณุโลกเปนต้นคิด จำจะแก้แค้นให้จงได้ จึงเกณฑ์ช้างม้ารี้พลจะยกไปเอาเมืองพระพิศณุโลก สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกทราบความก็ตรัสห้าม จึง มิได้ยกไป

จุลศักราช ๙๑๔ ปีชวดจัตวาศก พระมหานทราธิราชพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก ได้ราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยา ส่งข่าวลับขึ้นไปถึงเมืองศรีสัตนาหุต ว่าให้ยกกองทัพลงมาช่วยกองทัพกรุงศรีอยุทธยาตีกระหนาบเอาเมืองพระพิษณุโลกพระไชยเชษฐาธิราช จึงเกณฑ์ช้างม้ารี้พลลงมาทางเมืองนครไทยถึงเมืองพระ พิศณุโลกให้พระยาสุรินทร์คว่างฟ้า พระยามือไฟ พระยามือเหล็ก ออกตั้งค่ายใกล้เมืองประมาณ ๔๐ เส้น ๕๐ เส้น ฝ่ายพระมหินทราธราชกรุงศรีอยุทธยาก็ยกทัพเรือขึ้นไปตั้งอยู่ปากน้ำพิงค์ พระไชยเชษฐาธิราชจึงให้ไพร่พลทหารเข้าปีนเมือง เหลือกำลังไพร่พลหักเอาเมืองไม่ได้ จึงให้ข้ามคูเข้าไปขุดกำแพงเมืองพระพิษณุโลก ฝ่ายพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพระพิศณุโลก ให้ทหารออกทลวงฟันพลเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อกำลังมิได้ก็ถอยออกไปตั้งมั่นอยู่ในค่าย แล้วพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพระพิศณุโลกจึงเกณฑ์ให้เอาไม้ไผ่ทำแพเอาไฟจุดลอยลงไป ถึงกองทัพเรือพระมหินทราธิราชมิทันรู้ตัว ไพร่พลแตกตื่นพากันลงเรือทันบ้างมิทันบ้าง เสียเรือแลไพร่พลเปนอันมาก ฝ่ายเจ้าเมืองหงษาวดีรู้ข่าวว่า เมืองพระพิศณุโลก เกิดศึก จึงเกณฑ์กองทัพให้ลงมาช่วยตีหักเอาค่ายพระยามือเหล็กได้ก็เข้าไปในเมืองพระพิศณุโลก แล้วกองทัพเรือสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาก็เลิกทัพกลับลงไป พระไชยเชษฐาธิราชรู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุทธยาเลิกไปแล้ว ก็ล่าทัพขึ้นไปทางด่านชมภู ให้พระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้า พระยามือเหล็กพระยามือไฟอยู่รั้งหลัง ไปถึงวารีทางช่างแคบ จึงแต่งทหารซุ่มไว้สองข้างทาง แล้วยกพลทหารเข้าไปตั้งข้างในไกลกันประมาณ ๓๐ เส้น ๔๐ เส้น คอยตีทัพซึ่งจะติดตามไป ฝ่ายทัพเมืองหงษาวดีที่มาช่วยเมืองพระพิศณุโลกยกติดตามไปถึงวารีทางแคบก็ล่วงเข้าไปถึงทัพใหญ่ ฝ่ายทหารกองซุ่มได้ทีก็ตีกระหนาบสู้รบกันถึงอาวุธสั้นกองทัพเมืองหงษาวดีแตกฉานหนีไป ผู้คนล้มตาย เก็บได้ช้างม้า เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก

ครั้นถึงศักราช ๙๑๗ ปีเถาะสัปตศก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพลงมาล้อมกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระมหินทราธราชจึงมีศุภอักษรขึ้นไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอกองทัพลงมาช่วย พระไชยเชษฐาธิราชทราบแล้ว จึงให้เกณฑ์กองทัพประมาณห้าหมื่นพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธยกลงมาถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ พระเจ้า หงษาวดีคิดอุบายมีศุภอักษรประทับตราพระราชสีห์ ให้คนถือขึ้นไปถึงพระไชยเชษฐาธิราชว่าให้รีบยกลงมาช่วย ด้วยกองทัพเมือง หงษาวดีกำลังอดเสบียงอาหาร พระไชยเชษฐาธิราชไม่รู้ในอุบายพระเจ้าหงษาวดี เข้าใจว่าเปนศุภอักษรกรุงศรีอยุทธยาจริง ก็รีบยกลองลงมาถึงเมืองสระบุรี พบกองทัพเมืองหงษาวดีตั้งสกัดอยู่โจมตีกองทัพพระไชยเชษฐาธิราชมิทันรู้ตัวก็แตกกระจัดกระจายไป ผู้คนล้มตายเสียช้างมาเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก พระไชยเชษฐาธิราชก็ขึ้นช้างพาไพร่พลที่เหลืออยู่กลับไปเมืองศรีสัตนาคนหุต ครั้งนั้นกรุงศรีอยุทธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ให้พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพระพิศณุโลกมาครองกรุงศรีอยุทธยา

จุลศักราช ๙๒๑ ปีมะแมเอกศก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต ได้สู้รบกันเปนสามารถ กองทัพพระเจ้า หงษาวดีเหลือกำลังหักเอาเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับไป พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเชียงแสนได้ ๙ ปี
ในศักราช ๙๒๑ ปีมแมเอกศก ให้ท้าวพระยาอยู่รักษาเมืองศรีสัตนาคนหุต, เมืองเชียงแสนพระไชยเชษฐาธิราชลงมาตั้งเมืองเวียงจันท์ มีนามว่าเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แต่พระบาง พระแก้วมรกฎ พระแซกคำอยู่วัดวิชุลราชธรารามเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึ่งเปลี่ยนนามว่า เมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต ได้สร้างพระเจดีย์ก่อคร่อมบรมธาตุพระยาศรีธรรมโสกราชองค์หนึ่ง อยู่มาเจ้าเมืองหงษาวดีให้ อิมมะเรบุตร พระยาอังวะน้อง คุมกองทัพพม่ามาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาสามล้าน, พระยาม้าผู้รักษาเมืองสู้ไม่ได้ กวาดครอบครัวลงมาพึ่งพระไชยเชษฐาธิราชเมืองเวียงจันทบุรี แล้วอิมมะเรพระยาอังวะ ยกกองทัพติดตามลงมาตีบ้านเล็กเมืองน้อยจนถึงเมืองจันทบุรี กองทัพอิมมะเรพระยาอังวะจับได้เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันท์ ๑ น้องหญิงพระไชยเชษฐาธิราช ๒ นางแทนคำ ๑ มารดานางแทนคำ ๑ ห้าคนส่งไปเมืองหงษาวดี แล้วเลิกทัพกลับไป อยู่มาเจ้าเมืองหงษาวดีแต่งกองทัพลงมาตีเมืองเวียงจันท์อิก พระไชยเชษฐาธิราชพาครอบครัวลงมาตั้งค่ายอยู่ปากน้ำงึม ได้ต่อรบต้านทานกันเปนสามารถ กองทัพเมืองหงษาวดีเหลือกำลังที่จะรบชิงเอาค่ายไม่ได้ก็เลิกทัพกลับไป พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเชียงใหม่, เชียงแสน, หลวงพระบาง, เวียงจันท์รวม ๒๔ ปี มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อพระหน่อแก้วแต่ยังเล็ก พระไชยเชษฐาธิราชอายุได้ ๓๙ ปีถึงแก่กรรม
ศักราช ๙๒๙ ปีเถาะนพศก พระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้า พระยาจันทสิงหราชเมืองเวียงจันท์เกิดวิวาทรบกัน จะแย่งเอาพระหน่อแก้วบุตรพระไชยเชษฐาธิราชไปเลี้ยง พระยาสุรินทร์คว่างฟ้าจับพระยาจันทสิงหราชได้ให้ฆ่าเสีย พระยาสุรินทร์คว่างฟ้าได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์เรียกว่าพระยาสุมังคลโพธิสัตวอวยการาชาประเทศ มีบุตรชายคนหนึ่งเปนพระยานครน้อยพระยาสุมังคลโพธิสัตว์ครองเมืองได้ ๔ ปี

ศักราช ๙๓๓ ปีมแมตรีศก เจ้าเมืองหงษาวดีจัดกองทัพลงมาตีเมืองเวียงจันท์จับได้พระยาสุมังคลโพธิสัตว พระหน่อแก้ว ส่งขึ้นไปเมืองหงษาวดี แล้วตั้งอุปราชซึ่งจับไปครั้งก่อนเปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ครั้งนั้นเมืองเวียงจันท์เมืองหลวงพระบางต้องอ่อนน้อมขึ้นพม่าหงษาวดี
ต่อมา แล้วต้องไปบรรณาการกรุงปักกิ่งตามแบบอย่างแต่ก่อนด้วย แลเมืองเชียงแสนตั้งแต่กองทัพพระเจ้าหงษาวดีจับพระยาสุมังคลโพธิสัตวส่งไปเมืองหงษาวดีแล้ว ก็หาได้อ่อนน้อมต่อเมืองหลวงพระบางไม่ ไปพึ่งแก่เมืองเชียงใหม่ อยู่มามีผู้อวดอ้างตั้งตัวเปนพระไชยเชษฐาธิราช เกลี้ยกล่อมได้ผู้คนปลายเขตรปลายแดนยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองเวียงจันท์พาครอบครัวลงเรือหนีขึ้นไปถึงแก่งเรือล่ม เจ้าเมืองเวียงจันท์ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๓๕ ปีรกาเบญจศก เจ้าเมืองหงษาวดีแต่งกองทัพลงมาปราบปรามพวกขบถเรียบร้อยแล้ว ตั้งพระยาสุมังคลโพธิสัตวให้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ได้ปีหนึ่งถึงแก่กรรมท้าวพระยาเมืองเวียงจันท์ยกพระยานครน้อยบุตรพระยาสุมังคลโพธิสัตวเปนเจ้าเมืองจันทบุรีได้ปี ๑ พระยานครน้อยไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ท้าวพระยาพร้อม กันขึ้นไปฟ้องต่อเจ้าเมืองหงษาวดี ๆ ให้เอาตัวพระยานครน้อยไว้ แล้วให้ท้าวพระยากลับลงมารักษาบ้านเมือง
ครั้นศักราช ๙๔๒ ปีมโรง โทศก ท้าวพระยาผู้ว่าราชการเมืองเวียงจันท์แต่งให้พระยาเมืองหลวงเมืองแสนเปนแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ได้รบพุ่งกันเปนหลายครั้ง กองทัพเมืองเวียงจันท์จะหักเอาเมืองไม่ได้ก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงแสนมีหนังสือลงมาขอกองทัพเมืองเชียงใหม่แลกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปช่วย พระยาเมืองหลวง เมืองแสนทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้กองทัพยกขึ้นไปก็เกรงพระบารมี ได้ปฤกษาการบ้านเมืองกันแล้ว ก็เลิกทัพกลับไปเมืองเวียงจันท์ ๆ ไม่มีเจ้าเมือง ว่างเปล่าอยู่ ๙ ปี

ศักราช ๙๔๕ ปีมแมเบญจศก ท้าวพระยาแลพระสงฆ์พร้อมกันขึ้นไปเมืองหงษาวดี ขอพระหน่อแก้วบุตรพระไชยเชษฐาธิราชลงมาครองเมืองเวียงจันท์ได้ ๒ ปี รวมอายุ ๒๖ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช๙๔๗ปีรกาสัปตศก ท้าวพระยาจึงยกพระธรรมิกราชบุตรน้าพระหน่อแก้วขึ้นเปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ มีบุตรชาย อุปยุวราชพระมอมแก้ว ๒ คนพระธรรมิกราชครองเมืองได้ ๗ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๕๔ ปีมโรงจัตวาศก ท้าวพระยาเอาผู้มีตระกูลในวงษ์พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองต่อมาได้ ๔ ปี
แลในศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศกนั้น เจ้าเมืองเวียงจันท์แลท้าวพระยาพร้อมกันเห็นว่าในกรุงศรีอยุทธยาเปนแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า มีบุญญาธิการแผ่อาณาเขตรกว้างขวางออกไปมาก จึงแต่งราชทูตถือพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการลงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารณ กรุงศรีอยุทธยาครั้งหนึ่ง

ศักราช ๙๕๘ ปีวอกอัฐศก อุปยุวราชบุตรพระธรรมิกราชที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ มีบุตรชาย เจ้าตวนคำ เจ้าวิไชยอุปยุวราชครองเมืองได้ ๑๒ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๗๐ ปีวอกสัมฤทธิศก เจ้าตวนคำบุตรอุปยุวราชที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์มีบุตรชาย เจ้าชมภู ๑ เจ้าบุญชู ๑ เจ้าสุริยวงษ์ ๑ สามคน เจ้าวิไชยน้องเจ้าตวนคำมีบุตรชาย เจ้าปุ ๑เจ้าสอย ๑ เจ้าตวนคำครองเมืองได้ ๑๖ ปีก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๘๕ ปีกุนเบญจศก ท้าวพระยายกเจ้าสุริยวงษ์บุตรเจ้าตวนคำที่ ๓ เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ เรียกว่าพระยาสุริยวงษา ธรรมิกราชบรมบพิตร แล้วกลัวเจ้าชมภู เจ้าบุญชู เจ้าปุผู้ที่จะชิงเอาราชสมบัติ จึงให้ขับไล่เจ้าชมภู เจ้าบุญชู เจ้าปุไปจากบ้านเมือง เจ้าชมภูพาภรรยากับแสยทิพนาบัวหนีไปเมืองญวน มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อพระไชยองแว้, เจ้าชมภูถึงแก่กรรมทที่เมืองญวน แสนทิพนาบัวได้มารดาพระไชยองแว้เปนภรรยา มีบุตรชายชื่อท้าวน้อง ๑ ท้าวราชวงษา ๑ สองคน เจ้าบุญชูหนีไปบวชอยู่วัดภูหอภูโรง เจ้าปุพาภรรยาไปอยู่เมืองนครพนม มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อเจ้านันทราช  เจ้าปุถึงแก่กรรมที่เมืองนครพนม พระยาสุริยวงษาครองเมืองเวียงจันท์ ได้ว่ากล่าวเขตรแขวงข้างใต้ตั้งแต่ลี่ผีขึ้นไปข้างเหนือแต่ผากะไดลงมาข้างซ้ายต่อแดนกรุงศรีอยุทธยา กำหนดไม้ประดู่ ๓ ต้น อ้น ๒ ขุย ข้างขวาต่อแขวงเมืองญวน กำหนดต้นซาน ๓ กิ่ง มีลำน้ำสามคลองเปนอาณาเขตร
พระยาสุริยวงษามีบุตรชาย เจ้าราชบุตร ๑ บุตรหญิงนางกุมารี ๑ นางสุมัง ๑ สามคน อยู่มาฮ่อยก กองทัพมาตีเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าจึงพานางจันทกุมารีผู้น้องลงมาพึ่งพระยาสุริยวงษาเจ้าเมืองเวียงจันท์ เจ้าราชบุตรได้นางจันทกุมารีเปนภรรยามีบุตรชายเจ้ากิงกิสะ เจ้าอินทโสม อยู่มาเจ้าราชบุตรทำชู้ด้วยภรรยาท้าวโกขุนนาง พระสุริยวงษาให้ฆ่าเจ้าราชบุตรเสีย เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ได้ลาวเมืองเวียงจันท์เปนภรรยามีบุตรชายเจ้าองค์นก พระยาสุริยวงษาครองเมืองได้ ๕๘ ปี รวมอายุ ๘๓ ปีถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๐๔๓ ปีรกาตรีศก พระยาเมืองจันได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ เจ้านันทราชบุตรเจ้าปุที่หนีไปอยู่เมืองนครพนมได้เปนเจ้าเมืองนครพนม เกณฑ์กองทัพยกมาตีเมืองเวียงจันท์ จับพระยาเมืองจันฆ่าเสีย เจ้านันทราชได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ แล้วพระไชยองแว้บุตรเจ้าชมภูที่หนีขึ้นไปอยู่เมืองเวียดนาม ขอกองทัพญวน ยกมาตีเมืองเวียงจันท์จับเจ้านันทราชได้ฆ่าเสีย พระไชยองแว้บุตร เจ้าชมภูได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ แล้วให้ท้าวนองผู้น้องต่างบิดากันขึ้นไปรักษาเมืองหลวงพระบาง เจ้ากิงกิสะ เจ้าอินทโสมบุตรเจ้าราชบุตร เจ้าองค์นกบุตรเจ้าอินทโสมเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ากลัวพระไชยองแว้จะมีความพยาบาท แต่ครั้งปู่ขับไล่บิดาพระไชยองแว้ไปเมืองญวนก็พากันหนีไป เจ้ากิงกิสะเจ้าองค์นกไปอยู่เมืองล่าเมืองพงเจ้าอินทโสมอยู่เมืองแพร่
ครั้งนั้นเมืองเวียดนามกับเมืองเวียงจันท์ เมืองหลวงพระบางเปนบ้านพี่เมืองน้องไปมาหากัน แต่ไม่มีเครื่องบรรณาการส่วยอากรสิ่งใด อยู่มาเจ้ากิงกิสะ เจ้าองค์นกเกลี้ยกล่อมคนเมืองล่าเมืองพงได้ ยกเปนกองทัพลงมาตั้งอยู่กลางทาง ท้าวนองซึ่งรักษาเมืองหลวงพระบางรู้ว่ากองทัพเจ้ากิงกิสะยกลงมา ก็เชิญเอาพระบางพระแก้วมรกฎ พระแซกคำหนีลงมาเมืองเมืองเวียงจันท บุรีศรีสัตนาคนหุต เจ้ากิงกิสะก็ยกกองทัพเข้าเมืองหลวงพระบางเจ้ากิงกิสะบุตรเจ้าราชบุตรได้เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง มีนามว่าพระยากิงกิสะ เจ้าองค์นกบุตรเจ้าอินทกุมารเปนอุปราช
จุลศักราช ๑๐๕๗ ปีกุนสัปตศก พระยากิงกิสะเจ้าเมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุต เกณฑ์กองทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต เจ้าเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุมีศุภอักษรลงมายังกรุงศรีอยุทธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย สมเด็จพระเพทราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา จึงให้นายทัพนายกองคุมไพร่ช้างม้ารี้พลยกขึ้นไปช่วยเมืองเวียงจันท์บุรีศรีสัตนาคนหุต ครั้นนายทัพนายกองกรุงศรีอยุทธยายกขึ้นไปถึงเมืองจันทบุรี จึงมีหนังสือไปถึงนายทัพนายกองเมืองหลวงพระบางว่า ให้เปนทางไมตรีประนีประนอมกับเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตดังแต่ก่อนมา ครั้นนายทัพนายกองเมืองหลวงพระบางแจ้งในหนังสือนายทัพนายกองกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ก็มีความครั่น คร้ามเกรงพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา จึงยอมเปนทางไมตรีกับเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตสืบไป ไม่มีความอาฆาฎซึ่งกันแลกัน ฝ่ายกองทัพกรุงศรีอยุทธยาแลกองทัพเมืองหลวงพระบางต่างคนต่างเลิกทัพกลับไปบ้านเมือง พระยากิงกิสะเจ้าเมืองหลวงพระบาง พระไชยองแว้เจ้าเมืองจันทบุรีพร้อมกันแบ่งปันเขตรแดนบ้านเมือง (ตรงนี้ต้นฉบับขาดหายไปอ่านไม่ได้ความ) พ้นจากปากน้ำเหืองเหนือเมืองเชียงคาน ฝ่ายตวันออกปากน้ำมิใต้เมืองเชียงคานไปถึงลี่ผีเปนเขตรแขวงเมืองเวียงจันท์ ตั้งแต่น้ำของฝ่ายตวันออกปากน้ำมิ ฝ่ายตวันตกปากน้ำเหืองขึ้นไปถึง ผากะได ข้างซ้ายต่อแดนกรุงศรีอยุทธยากำหนดไม้ประดู่สามต้นข้างขวาต่อแดนเมืองญวนกำหนดต้นซานสามกิ่ง หัวพันทั้ง ๖ สิบสองน่าด่านเปนแขวงเมืองหลวงพระบาง พระยากิงกิสะเจ้าเมือง หลวงพระบางมีบุตรชื่อเจ้าแทนสาว เจ้าแทนคำ อักไซรคำ ๓ คน พระยากิงกิสะครองเมืองได้ ๒๒ ปีก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๐๗๕ ปีมเสงเบญจศก ท้าวพระยายกเจ้าองค์นกอุปราชขึ้นเปนเจ้าเมือง มีนามว่าสมเด็จบรมเชษฐขัติยสุริยวงษาเจ้าเมืองหลวงพระบางครองเมืองได้ ๑๐ ปี เจ้าอินทโสมบุตรเจ้าราชบุตรที่ ๒ น้องพระยากิงกิสะเกลี้ยกล่อมได้ไพร่พลเมือง ๆ ล่าเมืองพง ยกกองทัพลงมาตั้งอยู่เมืองงอยในลำอู เจ้าองค์นกจึงปฤกษาท้าวพระยาว่าจะยกกองทัพขึ้นไปสู้รบป้องกันรักษาเขตรแดนก็ได้ แต่เห็นว่าไพร่พลจะยับย่อยทั้งสองฝ่าย แล้วก็จะขาดพระญาติแลพระราชไมตรีกัน จึงให้นิมนต์พระสงฆ์แลข้าราชการมาประชุมพร้อมแล้ว เจ้าองค์นกตั้งความสาบาลว่าจะไม่คิดประทุษฐร้ายแก่กันแล้วจึงเชิญเจ้าอินทโสมลงมาให้ว่าราชการเมืองด้วย
ภายหลังเจ้าองค์นกกับมหาดเล็กไปต่อนกเขา พระยาเมืองซ้ายกับเจ้าอินทโสมร่วมคิดกันปิดประตูเมืองเสีย ยกเจ้าอินทโสมขึ้นครองเมืองหลวงพระบางในศักราช ๑๐๘๕ ปีเถาะเบญจศก เจ้าองค์นกกลับมาเห็นประตูเมืองปิดมีผู้คนรักษาน่าที่ จะเข้าเมืองไม่ได้ ก็พาบุตร ๗ คน กับมหาดเล็กไปถึงเมืองเลิก จึงตั้งความอธิฐานว่า ถ้าจะได้ ครองบ้านเมืองต่อไปจะข้ามสพานไปขอให้สพานหัก ครั้นอธิฐานแล้วก็ข้ามสพานไปสพานก็หัก เจ้าองค์นกจึงบวชเปนพระภิกขุที่วัดเลือก แล้วไปอยู่วัดช้างเผือกเมืองเชียงใหม่ อยู่มาเจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรม มีบุตรอยู่ ๒ องค์ เจ้าอังวะแต่งกองทัพประมาณ ๑๗๐๐๐๐ ยกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่คุมกองทัพออกรบพม่าหลายครั้งก็สู้ไม่ได้ จึงปฤกษาพร้อมกันว่า เจ้าองค์นกเมืองหลวงพระบางหนีมาบวชอยู่วัดช้างเผือกจึงเอาขันทองคำ ๓ ขันจารึกนามบุตรเจ้าเมืองเชียงใหม่ ๒ องค์ ๆ ละขัน จารึกนามเจ้าองค์นกขัน ๑ แล้วลงไปพร้อมกันที่แม่น้ำปิงอธิฐานว่าถ้าเจ้าองค์ใดจะมีบุญครอบครองเมืองเชียงใหม่ แลปราบข้าศึกพม่าได้ ขอให้ขันพระนามองค์นั้นลอยทวนขึ้นเหนือน้ำ ขันทองมีนามบุตรเจ้าเชียงใหม่ทั้ง ๒ องค์นั้นลอยตามน้ำไป แต่ขันทองมีนามเจ้าองค์นกลอยทวนขึ้นเหนือน้ำ ท้าวพระยามีความยินดีพร้อมกัน เชิญเจ้าองค์นกลาผนวชขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๗ วัน จึงเกณฑ์กองทัพออกไปรบพม่า ๆ แตกหนีไป
เจ้าองค์นกครองเมืองเชียงใหม่ มีบุตรชายกับนางยองคนเมืองเชียงใหม่ชื่อเจ้าต้น เจ้าวงษ์ เจ้าติศะ บุตรเจ้าองค์นกตามไปแต่เมืองหลวงพระบาง ๗ คน รวม ๑๐ คนก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่สืบ ๆ กันมา เจ้าอินทโสมครองเมืองหลวงพระบางได้ ๑๓ ปี เจ้าโนชา เจ้าไชยสารบุตรองค์นกซึ่งอยู่เมืองหลวงพระบางกับพระยาเชียงใต้ ท้าวอินน้ำงาทิดสุวรรณเกลี้ยกล่อมผู้คนได้๘๐๐ เสศจะเข้าตีเอาเมืองหลวงพระบาง เจ้าอินทโสมเจ้าเมืองหลวงพระบางให้เกณฑ์คนจับเจ้าโน เจ้าไชยสาร พระยาเชียงใต้ได้ฆ่าเสีย เจ้าอินทโสมมีบุตรชาย เจ้าโชติกะ ๑ เจ้าอนุรุธ๑ เจ้านาค๑ เจ้านารทะ ๑ เจ้าเชษฐวังโส ๑ เจ้าองค์เอก ๑ เจ้าสุริยวงษ์ ๑ เจ้าสุรวงษา ๑ เจ้าอินทพรหม ๑ เก้าคน มีบุตรหญิงนางแก้วรัตนพิมพา๑ นางศรีคำกอง ๑ นางสุชาดา ๑ นางสุธรรมา ๑ นางมาศ ๑ นางแว่นแก้ว ๑ หกคน รวม ๑๕ คน เจ้าอินทโสมครองเมืองได้ ๒๖ ปีก็ถึงแก่กรรมในศักราช ๑๑๑๑ ปีมเสงเอกศก เมื่อ เจ้าอินทโสมครองเมืองเหลวงพระบางหาได้อ่อนน้อมต่อเมืองญวนไม่เจ้าเวียดนามจึงแต่งให้องเจียงเทียมตาเทียมเจ๊กคุมกองทัพยกมาตีเมืองหลวงพระบาง
ท้าวพระยาพร้อมกันให้เจ้าอินทพรหมบุตรเจ้าอินทโสมที่ ๙ เปนแม่ทัพคุมกองทัพออกไปรบญวนทนฝีมือไม่ได้แตกหนีไป ท้าวพระยาจึงยกเจ้าอินทพรหมเปนเจ้าเมืองหลวงพระบางได้ ๘ เดือน จุลศักราช ๑๑๑๒ ปีมะเมียโทศก เจ้าอินพรหมจึงมอบให้เจ้าโชติกะบุตรบุตรเจ้าอินทโสมที่๑ผู้พี่เปนเจ้าเมืองหลวงพระบางแล้วเมืองเวียงจันท์มีหนังสือยุยงขึ้นไปเมืองอังวะขอกองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้าอังวะแต่งให้โปนานวคุมกองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบางจับได้เจ้าสุริยวงษ์บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๗ กับไพร่ ๖๐๐ คน แล้วเลิกทัพกลับไปเมืองอังวะ เจ้าโชติกะครองเมืองหลวงพระบางได้ ๑๔ ปี เจ้าอังวะแต่งให้เจ้าสุริยวงษ์เปนแม่ทัพคุมกองทัพพม่ากับไพร่ลาวเมืองหลวงพระบาง ๖๐๐ คนไปตีเมืองล่า เมืองแมน เจ้าสุริยวงษ์กับไพร่ลาว๖๐๐ คนพากันหนีลงมาเมืองแถง ศักราช ๑๑๒๖ ปีวอกฉศก จึงให้หนังสือลงมาถึงเมืองหลวงพระบางว่าจะขอเข้ามาช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง เจ้าโชติกะเจ้าเมืองหลวงพระบางไม่ให้เข้ามา เจ้าสุริยวงษ์จึงเกณฑ์กองทัพตามหัวเมืองยกมาประมาณ ๓ ยามเสศ เข้าตีปล้นเอาเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าโชติกะเจ้าเมืองหลวงพระบางท้าวพระยาแลญาติพี่น้องพากันหนีลงมาอยู่บ้านน้ำรุง นางศรีคำกองพี่เจ้าสุริยวงษ์ถามว่ายกกองทัพมาทั้งนี้หมายจะฆ่าญิติพี่น้องหรือ เจ้าสุริยวงษ์ว่าคิดถึงญาติพี่น้องหนีพม่าลงมาก็ไม่ให้เข้าบ้านเมือง จึงได้เกณฑ์กองทัพตีเข้ามาจะได้เห็นหน้าญาติพี่น้อง นางศรีคำกองจึงให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะมาพร้อมกัน ให้เจ้าสุรยิวงษ์สาบาลตัวว่าไม่คิดทำร้ายแก่พี่น้องแล้ว จึงให้พระราชาคณะลงไปเชิญเจ้าเมืองหลวงพระบางกับญาติพี่น้องขึ้นมา เจ้าเมืองหลวงพระบางก็มอบบ้านเมืองให้เจ้าสุริยวงษ์ผู้น้องครองเมืองหลวงพระบาง ศักราช ๑๑๓๓ปีเถาะตรีศก
ครั้งนั้นเมืองญวนกับเมืองหลวงพระบางต่างคนต่างมีบรรณาการไปมาหากันสืบมา เจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงเกณฑ์กองทัพไปแก้แค้นทดแทนตีเมืองเวียงจันท์ ได้รบพุ่งกัน อยู่ ๒ เดือน เจ้าบุญสาระเจ้าเมืองเวียงจันท์มีหนังสือขึ้นไปขอกองทัพพม่าลงมาช่วย เจ้าเมืองอังวะแต่งให้ชิกชิงโป, โปสุพลาคุมกองทัพประมาณ ๕๐๐๐ ยกลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางยกกองทัพขึ้นไปต่อรบพม่าประมาณ ๑๕ วัน กองทัพพม่าตีได้เมืองหลวงพระบาง เจ้าสุริยวงษ์ก็ยอมเปนเมืองขึ้นแก่กรุงอังวะตามเดิม

ศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก กรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นเปนแผ่นดินพระเจ้าตาก มีพระราชสาสนกับเครื่องบรรณาการไปเมืองหลวงพระบาง ขอเปนทางไมตรีไปมาหากัน เจ้าเมืองหลวงพระบางมีความโสมนัศยินดี ครั้น ณ ปีวอกอัฐศก เจ้าเมืองหลวงพระบางมีศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการแต่งท้าวพระยาคุมลงมากรุงเทพฯ แล้วโปรดพระราชทานทรัพย์สิ่งของ ให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปให้เจ้าเมืองหลวงพระบางตามสมควร

ศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก เจ้าบุญสารเจ้าเมืองเวียงจันท์แต่งให้พระยาสุโภคุมกองทัพลงไปตรีเมืองดอนมดแดง ซึ่งเปนข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพ ฯ แล้วจับพระวอเจ้าเมืองฆ่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวกรุงเทพ ฯ ทรงพระพิโรธ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมไพร่พลในกรุงนอกกรุง ขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกมีหนังสือไปถึงเมืองหลวงพระบาง ขอยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งท้าวพระยาคุมไพร่สามพัน ยกลงไปช่วยตีเมืองเวียงจันท์เหนือเมืองข้างทิศอิสาณ ครั้นตีเมืองเวียงจันท์สิ้นศึกแล้วเมืองหลวงพระบางก็ยอมเปนเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพฯ

ครั้งนั้นเมืองอังวะกับเมืองหลวงพระบางก็ขาดทางไมตรี หาได้ไปมาไม่ เมืองหลวงพระบางยังต้องไปบรรณาการแก่กรุงปักกิ่ง๕ ปีไปครั้งหนึ่ง กับที่กรุงเทพ ฯ ถึงปีก็มีดอกไม้เงินทองลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่เมืองเวียดนามกับเมืองหลวงพระบางก็ยังไปมาหากันอยู่ เจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางเห็นว่าทางเมืองหลวง พระบางจะไปบรรณาการเมืองปักกิ่งไกล ทางไปทางมาถึง ๓ ปี จึงแต่งให้พระยาเมืองแสนคุมเครื่องราชบรรณาการไปเมืองปักกิ่ง แล้ว ขอ ๑๐ ปีไปครั้งหนึ่ง เพิ่มเครื่องราชบรรณาการขึ้นอิกสิ่งละส่วนแต่นั้นมาเมืองหลวงพระบางไปบรรณาการเมืองปักกิ่ง ๑๐ ปีครั้งหนึ่ง ต่อ ๆ มา

ครั้นศักราช๑๑๔๔ปีขาลจัตวาศก ที่กรุงเทพฯ นั้นพระยาสรรค์จับพระเจ้าตากสำเร็จโทษเสีย สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกถวับยราชสมบัติกรุงเทพฯ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เมืองหลวงพระบางก็คงเปนข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพ ฯ ตามเดิม เจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางครองเมืองได้ ๒๖ ปีก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๑๕๓ ปีกุญตรีศก ในกรุงเทพ ฯ เปนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ท้าวพระยาพร้อมกันขอ เจ้าอนุรุธบุตรเจ้าอินทโสมที่ ๒ ผู้พี่เจ้าสุริยวงษ์ขึ้นเปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้านากบุตรบุตรเจ้าอินทโสมที่ ๓ เปนอุปราช เจ้ามังธาตุราชบุตรเจ้าอนุรุธที่ ๑ เปนราชวงษ์ ครองเมืองได้ปีหนึ่ง ศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก เจ้านันทเสนเจ้าเมืองเวียงจันท์มีความพยาบาทกับเมืองหลวงพระบาง จึงเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบาง ได้สู้รบกันประมาณสิบสี่สิบห้าวัน เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันท์ถูกปืนพวกเมืองหลวงพระบางตายในที่รบ เจ้าเมืองเวียงจันท์เห็นเหลือกำลัง จึงคิดอุบายมีหนังสือลับเข้าไปถึงนางแทนคำภรรยาเจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางที่ถึงแก่กรรม ว่าให้นางแทนคำ ช่วยคิดอ่านเอาเปนธุระในการสงครามครั้งนี้ ถ้าสำเร็จความปราดถนาแล้วจะยกนางแทนคำขึ้นเปนมเหษี แล้วจะมอบราชสมบัติให้ นางแทนคำหลวงด้วยกลมารยาข้าศึก จึงให้หัวกันเมืองวาคนสนิทเกณฑ์พรรคพวกไปรักษาน่าที่แลประตูด้านทิศอาคเณย์ ถ้ากองทัพพวก เมืองเวียงจันท์ยกมาก็อย่าให้ป้องกัน ให้เปิดประตูเมืองปล่อยเข้ามาโดยสดวก แล้วนางแทนคำมีหนังสือนัดหมายไปถึงเจ้าเมือง เวียงจันท์ ๆ ทราบแล้วถึงวันนัดก็คุมพลทหารยกเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ฆ่าฟันราษฎรล้มตายเปนอันมาก จับได้เจ้าอนุรุธเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ ญาติพี่น้อง แลกวาดครอบครัวเมืองหลวงพระบางลงมาเมืองเวียงจันท์ แล้วตั้งพระยาหลวงแสนอยู่รักษาเมืองหลวงพระบาง แล้วเจ้าเมืองเวียงจันท์แต่งให้ท้าวพระยาคุมเอาตัวเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์กับญาติพี่น้องลงมาส่งณกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรดให้เอาตัวเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์กับญาติพี่น้องจำไว้ ณ กรุงเทพ ฯ
ในศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศกนั้น อยู่มาเมืองแถง เมืองพวนตั้งขัดแข็งต่อเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองเวียงจันท์จึงแต่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองแถง เมืองพวน ได้พวกลาวทรงดำลาวพวน ส่งลงมาณ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรด ให้ส่งลาวทรงดำออกไปตั้งอยู่เมืองเพชรบุรี ลาวพวนให้ตั้งอยู่กรุงเทพ ฯ พระยาหลวงแสนรักษาเมืองหลวงพระบางได้ ๔ ปี

ศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัปตศก อุปราชาเจ้าเมืองไซซึ่งขึ้นแก่เมืองหลวงพระบางนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองปักกิ่ง แล้วทูลเจ้า ปักกิ่งให้ช่วยขอเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์กับญาติพี่น้องต่อกรุงเทพ ฯ กลับขึ้นไปรักษาบ้านเมืองตามเดิม เจ้าปักกิ่งจึงให้
เพี้ยศรีปองอ้องกับพระยาสินพรหมเมืองเชียงรุ้งถือศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการมาทางเมืองพิไชยลงมา ณ กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดเกล้า ฯ ยกโทษเจ้าอนุรุธ เจ้าเมืองหลวงพระบาง , เจ้านากอุปราช, เจ้ามังธาตุราชราชวงษ์, กับญาติพี่น้องให้กลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบางว่าราชการบ้านเมืองตามเจ้าปักกิ่งขอต่อไป จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าอภัยบุตรเจ้าอุปราชนากที่ ๑ เปนเจ้าหอน่า ขึ้นไปช่วยว่าราชการบ้านเมือง แล้วโปรดให้มีศุภอักษรขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ ให้ส่งครอบครัวเมืองหลวงพระบางไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าหอ น่าแลญาติพี่น้อง กราบถวายบังคมลาขึ้นไปรักษาบ้านเมืองสืบไป

เจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธมีบุตรชาย เจ้ามังธาตุราชราช วงษ์ ๑ เจ้าสุทธราช ๑ เจ้าไชยราช ๑ เจ้าราชไภย ๑ เจ้าอุ่นแก้ว ๑ เจ้าช้าง ๑ หกคน บุตรหญิง นางทุมา ๑ เจ้าหลา ๑ เจ้าวัยกา ๑ สามคน รวม ๙ คน

เจ้าอุปราชนากมีบุตรชาย เจ้าอภัยเปนที่หอน่า ๑ เจ้าสุทธ ๑ เจ้าอินท ๑ เจ้าพรหม ๑ เจ้าม้ง ๑ เจ้าลาน ๑ เจ้าสญไชย ๑ เจ็ดคน

เจ้าอภัยหอน่ามีบุตรชาย เจ้างอนคำ ๑ เจ้าแก่นคำ ๑ เจ้าฮอดคำ ๑ สามคน

เจ้าสุทธบุตรเจ้าอุปราชที่๒ มีบุตรชาย เจ้าคำบัว ๑ บุตรหญิง เจ้าคำตัน ๑ สองคน

เจ้าอินทร์ บุตรเจ้าอุปราชที่ ๓ มีบุตรชาย เจ้าคำโป ๑ บุตรหญิง เจ้าคำตือ ๑ เจ้าคำอ้น ๑ สามคน

เจ้าม้งบุตรเจ้าอุปราชที่ ๕ มีบุตรชาย เจ้าคำปาน ๑ บุตรหญิง เจ้าคำปอง ๑ เจ้าคำกอง ๑ สามคน

เจ้าสญไชยบุตรเจ้าอุปราชที่ ๗ มีบุตรชาย เจ้าคำเง่า ๑ เจ้าคำแสน ๑ เจ้าคำเมิด ๑ เจ้าคำปะ ๑ เจ้าคำยิ่ง ๑ เจ้าคำอ่อน ๑ บุตรหญิงเจ้าคำตัน๑ เจ้าคำสุทธิ๑ เจ้าคำทิพ ๑ เจ้าคำแจง ๑ สิบคน

เจ้าเมืองเหลวงพระบางอนุรุธครองเมืองได้ ๒๕ ปี รวมอายุ ๘๒ ปีถึงแก่กรรม เจ้าอุปราชนากก็ถึงแก่กรรมต่อ ๆ กันมา

ศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้ามังธาตุราชราชวงษ์บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่ ๑ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าสุทธราชบุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่๔เปนราชวงษ์ ขึ้นไปปกครองบ้านเมือง

เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชมีบุตรชาย เจ้าศุขเสิม ๑ เจ้าจันทราช ๑ เจ้าโพเนื้อทอง ๑ เจ้าอุ่นคำ ๑ เจ้าคำบัว ๑ เจ้าบวรพันธุ์ ๑ เจ้าสุทธิสาร ๑ เจ้าโพธิสาร ๑ เจ้าสุพรรณ ๑ บุตรหญิง เจ้ายอดคำ ๑ เจ้าฉิมมา ๑ เจ้าทองทิพ๑ เจ้าเบงคำ ๑ เจ้าฉิมพลี ๑ เจ้าทองสุก ๑ สิบห้าคน

เจ้าสุทธราชอุปราชมีบุตรชาย เจ้าราชไภย ๑ เจ้าบุตรไตร ๑ เจ้าคำเม้า ๑ เจ้าศรีวิไชย ๑ เจ้าคำแก่น ๑ เจ้าคำสิง ๑ เจ้าคำบัว ๑ เจ็ดคน

เจ้าอภัยราชวงษ์มีบุตรชายเจ้าสุริวงษ์ ๑ เจ้าคำปาน ๑ เจ้าคำสุก ๑ เจ้าไชย ๑ บุตรหญิง เจ้าคำปอล ๑ เจ้าคำแว่น ๑ เจ้าคำผิว ๑ เจ้าบัวแก้ว ๑ แปดคน

เจ้าไชยราชบุตรเจ้าเมืองเหลวงพระบางอนุรุธที่ ๓ มีบุตรชายเจ้าคำองค์คน ๑

เจ้าช้างบุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่ ๖ มีบุตรชาย เจ้าคำฟัน ๑ เจ้าคำตัน ๑ สองคน

ศักราช ๑๑๘๒ ปีมโรงโทศก เจ้าหมาน้อยกับเจ้ามหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าเกิดวิวาทกัน เจ้ามหาน้อยหนีมาพึ่งเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าอุ่นแก้วคุมกองทัพยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองบูรณ์เหนือ แล้วเจ้าอุปราชแต่งให้พระยาเชียงใต้ พระยาเชียงเงินคุมกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองล่า เมืองพง เมืองบาน เมืองของ เมืองนุ่น เมืองเชียงฟ้าได้หลาย หัวเมือง มหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าเกณฑ์คนยกลงมาต่อรบจับ พระยาเชียงใต้พระยาเชียงเงินขึ้นไปเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า พวกกองทัพเมืองหลวงพระบางก็แตกหนีมาตั้งอยู่เมืองบูรณ์เหนือ แล้วเจ้าสุทธราชอุปราชส่งตัวมหาน้อยไปยังเมืองปักกิ่ง แล้วเลิกทัพกลับมาเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชทำราชการอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยอิก ๘ ปี

ศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล่าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้ามังธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบาง จึงมอบบ้านเมืองให้ท้าวพระยาอยู่รักษา แล้วเจ้าเมืองหลวงพระบาง มังธาตุราช คุมเอาดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการกับสิ่งของลงมาทำบุญในการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาไลย กราบบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า คิดถึงพระบารีพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้ทรงชุบเลี้ยงต่อ ๆ มา จะขอบวชเปนพระภิกษุสงฆ์ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเผดียงพระสงฆ์ ราชาคณะ, อันดับ มา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บวชเจ้ามังธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางเปนพระภิกขุแล้วโปรดให้ไปจำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุ ภายหลังเมืองหลวงพระบางเกิดความไข้ป่วงใหญ่ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก ในปีวอกฉศกนั้นครั้นถวายพระเพลิงพระ บรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสร็จแล้ว เจ้ามังธาตุราชผนวชได้พรรษาหนึ่ง ก็ลาผนวชไปอยู่บ้านหลวงบางขุนพรหมทำราชการในกรุงเทพ ฯ

ครั้นศักราช ๑๑๘๘ ปีจออัฐศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ว่าเจ้ามังธาตุราชเปนคนกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงชุบเลี้ยงมา จึงสละทิ้งบ้านเมืองลงมาบวชถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วอุสาหะทำราชการอยู่ในกรุงเทพ ฯ ช้านาน เปนคนสัตย์ซื่อมั่นคง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องยศกกุธภัณฑ์ ๕ ประการให้เจ้ามังธาตุราชเพิ่มเติมอิก แล้วโปรดให้เจ้ามังธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางกลับขึ้นไปว่าราชการบ้านเมือง เจ้ามังธาตุ จึงเอาเจ้าโพเนื้อทองบุตรที่ ๓ เจ้าอุ่นคำเปนอุปราชเดี๋ยวนี้ ถวายเปนมหาดเล็กให้ทำราชการอยู่กรุงเทพ ฯ แล้วกราบถวายบังคมลาขึ้นไปเมืองหลวงพระบางในปีจออัฐศกนั้น

ศักราช ๑๑๘๙ ปีกุนนพศก เจ้าอนุเวียงจันท์คิดขบถต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าอนุแต่งให้นักภูมินทร์ไพร่ ๕๐ถือหนังสือขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางว่า ขอกองทัพมาช่วยตีกรุงเทพ ฯ เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชไม่เข้าด้วย จึงปฤกษาเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ ท้าวพระยาเห็นพร้อมกันว่า ถ้าจะไม่คิดอุบายแต่งให้ท้าวพระยาลงไปพูดจาล่อลวงไว้ เจ้าอนุเวียงจันท์ก็จะยกกองทัพขึ้นมาตีบ้านเมืองหลวงพระบาง จึงแต่งให้พระยาเมืองแพนกับไพร่ ๒๐ เศษลงไปพร้อมกับนักภูมินทร์ พูดจาล่อลวงเจ้าอนุเวียงจันท์ให้ช้าไว้ แล้วเจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชเร่งมีศุภอักษรบอกข้อราชการให้เจ้าศุขเสิมบุตรที่๑ ถือลงมา ณ กรุงเทพ ฯ แล้วเกณฑ์กองทัพให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าอุ่นแก้ว เจ้าแก่นคำ เจ้ามาก พระยาเชียงเหนือ พระยานาเหนือ พระยาตีนแทน คุมไพร่ ๕๐๐๐ เศษเตรียมไว้คอยฟังราชการทางกรุงเทพ ฯ

ฝ่ายเจ้าโพเนื้อทองบุตรเจ้ามังธาตุราชที่๓ ซึ่งถวายเปนมหาดเล็กทำราชการอยู่กรุงเทพ ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บวชเปนภิกขุแล้วขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท กองทัพเมืองเวียงจันท์จับเจ้าโพเนื้อทองขึ้นไปพบกับพระยาเมืองแพน ณ เมืองเวียงจันท์ พระยาเมืองแพนพูดจาล่อลวงเจ้าอนุเวียงจันท์ ขอเจ้าโพเนื้อทองพากันกลับไปเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาราชสุภาวดีเปน แม่ทัพยกพลทหารขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ แล้วให้เจ้าอุปราชนายทัพนายกองรีบคุมไพร่พลยกบงมาช่วยกองทัพกรุงเทพ ฯ ตีกระหนาบเมืองเวียงจันท์ ภายหลังแต่งให้เจ้าสุทธ เจ้าจันทราช เจ้าคำเม้าเจ้าคำปานคุมเสบียงอาหารลงไปกราบเรียนพระยาราชสุภาวดีจ่ายไพร่พลกองทัพ แลเมื่อเจ้าศุขเสิมถือศุภอักษรลงมาแจ้งราชการณกรุงเทพ ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ ยินดีดำรัสสรรเสริญเจ้ามังธาตุราชว่าเปนคนซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพฯ จึง ให้เจ้าศุขเสิมบุตรถือศุภอักษรเล็ดลอดข้าศึกลงมาได้ จึงโปรดตั้งเจ้าศุขเสิมบุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๑ เปนราชบุตร แล้วให้รีบกลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง

ถึงศักราช ๑๑๙๐ ปีชวดสัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดให้พระยาพิไชยขึ้นไปเอาตัวเจ้าสุทธอุปราชลงมา ณ กรุงเทพ ฯ ว่าเจ้าอุปราชปิดบังครอบครัวเมืองเวียงจันท์ไว้ เจ้าราชไภยราชวงษ์ เจ้าศุขเสิมราชบุตร เจ้า จันทราชน้องเจ้าศุขเสิมก็ลงมาด้วย เจ้าอุปราชถึงแก่กรรมในกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชไภยราชวงษ์เปนอุปราช เจ้าศุขเสิมราชบุตรเปนราชวงษ์ เจ้าจันทราชบุตร เจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนราชบุตรกลับขึ้นไปรักษาราชการบ้านเมือง

ศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก มหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า มีความพยาบาทเกณฑ์กองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้ามังธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้เจ้าราชไภยอุราช เจ้าอุ่นแก้วน้อง เจ้าราชไภยคุมกองทัพขึ้นไปสู้รบ กองทัพมหาวังสู้ไม่ได้แตกหนีไป

ศักราช ๑๑๙๕ ปีมเสงเบญจศก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปนแม่ทัพคุมพลทหารกรุงเทพ ฯ ออกไปรบญวนที่เมืองพนมเปนแต่นั้นมาเมืองญวนกับเมืองหลวงพระบางก็ขาดทางไมตรีไม่ได้ไปมาหากัน

ครั้นศักราช ๑๑๙๗ ปีมแมสัปตศก เจ้าพระยาธรรมาเปนแม่ทัพคุมพลทหารยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองหลวงพระบาง แล้วแต่งให้เจ้าราชไภยอุปราชท้าวพระยาคุมกองทัพขึ้นไปตีเมืองพวน แต่งให้เจ้าอุ่นแก้วน้องเจ้าอุปราช เจ้าสญไชยบุตรเจ้าอุปราชนากที่ ๗ เจ้าแก่นคำบุตรเจ้าหอน่าอภัยที่ ๒ เจ้าคำปานบุตรเจ้ามังที่ ๑ ท้าวพระยาคุมกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองแถง จับได้ลาวพวนลาวทรงด่ำส่งลงมาณ กรุงเทพ ฯ เสร็จราชการแล้วเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพเลิกทัพกลับลงมากรุงเทพ ฯ เจ้ามังธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางครองเมืองได้ ๒๐ ปี รวมอายุ ๖๔ ปีก็ถึงแก่กรรม
ศักราช ๑๑๙๘ ปีวอกอัฐศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ มีศุภอักษรแต่งให้เจ้าอุ่นแก้วคุมดอกไม้เงินทองลงมาณ กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เจ้าอุปราชหรือเจ้าราชวงษ์คงจะตั้งเปนเจ้าเมืองหลวงพระบางคนหนึ่ง จึ่งโปรดตั้งเจ้าอุ่นแก้ว บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่ ๕ เปนน้องเจ้าอุปราชไภย เปนที่ราชวงษ์ขึ้นไปรักษาบ้านเมือง ครั้งเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ปลงศพเจ้าเมืองหลวงพระบางเสร็จแล้ว พวกเมืองหึม เมืองคอย เมืองควรตั้งขัดแขงต่อเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ แต่งให้ท้าวพระยาคุมกองทัพขึ้นไปตีจับได้ลาวทรงดำ แต่งให้พระยา ศรีมหานามคุมลงมา ณ กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่ง

ศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสัมฤทธิศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์มีความวิวาทกันลงมา ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าราชวงษ์ก็คุมลาวทรงดำลงมา ณ กรุงเทพ ฯ อิกครั้งหนึ่ง เจ้าราชวงษ์ฟ้องเจ้าอุปราชว่าแต่งท้าวคำฟันไปพูดจากับญวน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยจึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์ศุขเสิมบุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๑ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราชราชไภยบุตรเจ้าอนุรุธที่ ๔ เปนที่เจ้าอภัยสุริยวงษาผู้ช่วยว่าราชการ เจ้าอุ่นแก้วราชวงษ์บุตรเจ้าอนุรุธ ที่ ๕ เปนอุปราช เจ้าจันทราชราชบุตร ๆ เจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนราชวงษ์ เจ้าแก่นคำบุตรเจ้าอภัยหอน่าที่ ๒ เปนราชบุตร ครั้นเจ้าอภัยสุริยวงษาผู้ช่วยราชการขึ้นไปถึงท่าปากลายก้หนีไปเมืองเชียงคาน เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้ท้าวพระยาตามจับ ได้ตัวเจ้าอภัยสุริยวงษาส่งลงมา ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าอภัยสุริยวงษาถึงแก่กรรมที่กรุงเทพ ฯ

เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมมีบุตรชาย เจ้าคำเง่า ๑ เจ้าบุญเพ็ชร ๑ เจ้าพรหมจักร ๑ เจ้าคำแสง ๑ เจ้าพรหมา ๑ เจ้า อินทจักร ๑ บุตรหญิง เจ้ากัญญา ๑ เจ้าคำอ้น ๑ เจ้าบุดดี ๑ เจ้าบับภา ๑ เจ้าคำสอน ๑ เจ้าอุ่นคำ ๑ เจ้าคำปล้อง ๑ รวม ๑๓ คน

เจ้าอุปราชอุ่นแก้วมีบุตรชายเจ้าศิริษา๑ เจ้าสุวรรณพรหมา ๑ เจ้าทองคำ ๑ เจ้าคำมา ๑ บุตรหญิง เจ้าสุพรรณ ๑ เจ้าคำปิ่น ๑ เจ้าคำซาว ๑ รวม ๗ คน

เจ้าราชบุตรแก่นคำมีบุตรชาย เจ้าคำเพ็ง ๑ เจ้าคำเล็ก ๑ เจ้าพรหมา ๑ เจ้าคำโสม ๑ เจ้าคำย่น ๑ เจ้าดอกแก้ว ๑ บุตรหญิง เจ้าทองดี ๑ เจ้าคำกอง ๑ เจ้าคำล่า ๑ เจ้าคำตือ ๑ เจ้าคำวาว ๑ เจ้าหุ่นจีน ๑ รวม ๑๒ คน

เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมครองเมืองได้๑๐ ปีถึงศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศกเจ้าหน่อคำบุตรหม่อมมหาวัง เจ้ามหาไชยงาคำบุตรมหาน้อยเมืองฮำยกกองทัพมาตีเจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งกับมหาไชยเมืองพงได้ต่อรบกันเปนสามารถ ขณะนั้นเจ้าเมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปถึงท่าปากลาย จึงแต่งให้พระยาเมืองขวา ถือหนังสือขึ้นไปเมืองหลวงพระบางว่า ให้เจ้าอุปราชเปนแม่ทัพคุมไพร่ ๕๐๐๐ คนรีบยกขึ้นไปคิดราชการ แล้วให้แต่งท้าวพระยาขึ้นไปเกลี้ยกล่อมมหาไชยท้าวพระยาเมืองล่า เมืองพง

ณ วันเดือนยี่ แรมแปดค่ำปีวอกสัมฤทธิศก เจ้าอุปราชคุมไพร่ ๕๐๐๐ คนยกจากเมืองหลวงพระบาง ขึ้นไปตั้งอยู่เมืองไซทางไกลเมืองหลวงพระบาง ๗ คืน เจ้าอุปราชแต่งให้เจ้าอุ่นคำคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปตั้งอยู่บางแพงโพทอง๑ ให้เจ้าษาคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปตั้งอยู่เมืองเงิน๑ ให้พระยาศรีนครโลก พระยานาเหนือคุมไพร่ ๘๐๐ คนให้ตั้งอยู่เมืองบูรณ์ใต้ ๑ ให้เจ้าพรหมา เจ้าสุก พระยาจ่าบ้านคุมไพร่ ๘๐๐ คนให้ตั้งอยู่เมืองวาอาฮิน ๑ คอยเกลี้ยกล่อมได้ครอบครัวพวกอุปราชา มหาไชย เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าสญไชยเจ้าคำปานขึ้นไปตั้งอยู่เมืองซือ เมืองงอย รับส่งครอบครัวลงมาเมืองหลวงพระบาง ครํ้น ณ เดือนสี่ข้างแรม เจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งพาครอบครัวหนีเข้ามาเมืองบูรณ์เหนือ พระยาศรีนครโลกให้พระยานาเหนือพาเจ้าอุปราชาแลครอบครัวลงมาเมืองไซ ครั้นณเดือนห้าข้างขึ้นเจ้าอุปราชแต่งให้นายทัพนายกองอยู่รักษาเขตรแดนแล้วพาเจ้าอุปราชครอบครัวลงมาเมืองหลวงพระบาง ครั้นณเดือนหกข้างขึ้นปีรกาเอกศก มารดา, น้องหญิง, ภรรยาเจ้าอุปราชาหนี เข้ามาอยู่เก่วกายแขวงเมืองหลวงพระบาง เจ้าพรหมมา เจ้าสุกแต่ง ให้ท้าวพระยาไปเกลี้ยกล่อมพาเข้ามาเมืองวาอาฮิน ณเดือนหกแรมเก้าค่ำ เจ้าพรหมา เจ้าสุกพามารดา , น้องหญิง, ภรรยาเจ้าอุปราชาลงมาถึงเมืองหลวงพระบางณวันเดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่งปีรกาเอกศก ครั้น ณ เดือนเก้าขึ้นเจ็ดค่ำ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าอุ่นคำ เจ้าษา เจ้าพรหมา เจ้าสุก เจ้าสิง พระยาเชียงใต้ ถือศุภอักษรดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการ พาตัวเจ้าอุปราชาลงมา เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวณ กรุงเทพ ฯ เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมครองเมืองได้ ๑๒ ปี รวมอายุ ๕๓ ปี ถึงแก่กรรมในเดือนสิบแรมสิบค่ำศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก ที่เมืองหลวงพระบางก็เกิดความไข้ป่วงใหญ่ผู้คนตายมาก ฝ่ายเจ้าอุปราชอุ่นแก้วลงมาอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรมในเดือนอ้ายแรมสามค่ำปีจอโทศก ครั้นณเดือนห้าห้าขึ้นค่ำหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญตรีศก ครั้น ณ เดือนห้าแรมสามค่ำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัส สั่งให้เจ้าพนักงานชักศพเจ้าอุปราชอุ่นแก้วไปเข้าสู่เมรุวัดทอง แล้ว พระราชทานฝ้าไตร ๑๕ ไตรเงินสองชั่งให้ทำบุญให้ทานในการศพ แล้วได้พระราชทานเงินตราถวายพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมคืนละสองตำลึง ๔เดือนเปนเงิน ๑๒ ชั่ง ครั้น ณ เดือนสิบปีกุญตรีศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าอุ่นค่ำ เจ้าษา เจ้าพรหมา เจ้าสิง เจ้าสุก ท้าวพระยาแลเจ้าอุปราชขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง โปรดพระราชทานสิ่งของขึ้นไปทำบุญให้ทานในการศพเจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิม แล้โปรดให้หลวงเทเพนทร์ ขุนวิเสศเปนข้าหลวงคุมหีบศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพเจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมเสร็จแล้ว เจ้าราชวงษ์จันทราชแลเจ้านายบุตรหลานท้าวพระยาจึงพาเจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้ง กับคุมดอกไม้ทองเงินลงมา ณ กรุงเทพ ฯ

ศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์จันทราชบุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุ่นคำบุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๔ เปนอุปราช เจ้าคำบัวบุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๕ เปนราชวงษ์พาอุปราชากลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ในเดือนอ้ายปีชวดจัตวาศกเจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้แต่งให้ท้าวพระยาคุมเครื่องราชบรรณาการจำนวนปีชวดจัตวาศก ไปเมืองปักกิ่งครั้งหนึ่งไปถึงเมืองแสหลวงบ้านเมืองเมืองปักกิ่งเกิพดทัพศึกวิวาทรบพุ่งกัน เจ้าเมืองแสหลวง ให้ท้าวพระยาเมืองหลวงพระบางส่งเครื่องบรรณาการไว้ แล้วให้กลับลงมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๑๕ ปีฉลูเบญจศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนแม่ทัพคุมไพร่พลทหารยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองหลวงพระบาง แต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าคำเม้า เจ้ากำ เจ้าษาคุมไพร่ ๓๐๐๐คน ยกขึ้นไปช่วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทระดมตีเมืองเชียงตุง เจ้าษาถึงแก่กรรมในที่รบ แต่เจ้าคำเม้าหายไป ครั้นเลิกทัพกลับมา เจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งก็ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทลงมา ณ กรุงเทพ ฯ

ครั้นศักราช ๑๒๑๖ ปีขาลฉศก นายเชียงจำปาคนเมืองหลวงพระบาง ท้าวอิน ท้าวบุญคงคนเมืองน่าน ซึ่งพวกเมืองเชียงตุงจับไว้ หนีลงมาถึงกรุงเทพฯ ว่าพม่าเกณฑ์คนสามแสนจะยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่สองแสน เมืองหลวงพระบางแสนหนึ่ง ท่านเสนาบดี ทั้งปวงจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชเดโชไชย พระยาราชวรานุกูลคุมพลทหารพาอุปราชาขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง ในเดือนสามข้างขึ้นปีขาลฉศก จัดการรักษาบ้านเมืองแลค่ายกำแพงหอรบเสร็จแล้วตั้งฟังราชการอยู่ ก็ไม่มีเหตุการแลทัพศึกสิ่งใด พระยาสีหราชเดโชไชย พระยาราชวรานุกูลคุมไพร่พลแลพาอุปราชากลับลงมา ณ กรุงเทพ ฯ

ครั้นศักราช ๑๒๑๗ ในเดือนห้าปีมโรงยังเปนสัปตศก พระยาราชพินิจจัยเชิญศุภอักษรแลพามหาอุปราชา ขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งท้าวพระยาพาเจ้ามหาอุปราชา ขึ้นไปส่งบ้านเมือง ครั้น ณ เดือนหกแรมแปดค่ำปีมโรงอัฐศก เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาศรีมหานาม พระยากวานเล็กน้อยพาเจ้ามหาอุปราชาแลมารดาน้องหญิงภรรยาครอบครัวขึ้นไปถึงเมืองบูรณ์เหนือแขวงเมืองหลวงพระบางพรมแดนต่อแขวงเมืองเชียงรุ้ง เจ้ามหาอุปราชาให้พระยาศรีมหานาม พระยากวานเล็กน้อยพักครอบครัวรออยู่ที่เมืองบูรณ์เหนือก่อน ด้วยเมืองเชียงรุ้งยังไม่เปนปรกติ เจ้ามหาอุปราชาจะขึ้นไปฟังเหตุการร้ายดีประการใดจึงจะแต่งคนถือหนังสือลงมารับครอบครัวครั้งหลัง เจ้ามหาอุปราชาขึ้นไปถึงเมืองพง คิดอุบายให้มหาไชยเมืองพงขึ้นไปส่ง ครั้นไปถึงเมืองฮำ เจ้ามหาอุปราชาพักอยู่เมืองฮำ มหาไชยตั้งอยู่ท่าตัวเหนือเมืองฮำทางใกล้กันวันหนึ่งแล้วเจ้ามหาอุปราชาจึงแต่งหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าราชบุตรเมืองเชียงรุ้ง ๆ แต่งให้อาญาน้อยเมืองฮำ คุมไพร่พลยกไปตีพวกมหาไชยแตกหนีลง มาเมืองพง ครั้นเดือนแปดปีมโรงอัฐศก มหาไชยเมืองพง จึงเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองรา เมืองลองแตก มหาไชยจับได้ เจ้ามหาอุปราชาที่วัดใหม่เมืองลอง เมื่อเดือนสิบสองขึ้นหกค่ำปีมเสงนพศก พามาถึงเมืองฮำก็ฆ่ามหาอุปราชาเสียในวันเดือนสิบสอบขึ้นแปดค่ำ แล้วมหาไชยยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองแจ เจ้าราชบุตรเมือง เชียงรุ้ง อาญาน้อยเมืองฮำแลพวกเมืองโรง เมืองแจงหกพันนาฝ่ายตวันตกพร้อมกันยกเข้าตีกองทัพมหาไชยเจ้าเมืองล่า เจ้าเมืองพงได้สู้รบกันเปนสามารถ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก เจ้าเมืองล่าตายในที่รบ มหาไชยเจ้าเมืองพงทนฝีมือไม่ได้พาครอบครัวหนีลงมาพักอยู่ลองเฮียดแขวงเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๑๙ ปีมเสงนพศกในเดือนสี่ข้างขึ้น มหาไชยกลับยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองโรงได้สู้รบกันเปนสามารถ มหาชัยถูกปืนตายในที่รบ แล้วนายยงบุตรมหาไชยกับนายทัพนายกองพากันแตกหนีลงมาตั้งอยู่ลองเฮียด แล้วส่งครอบครัวเข้ามาพักอยู่นาหินเมืองไซ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาเมืองซ้ายคุมไพร่ขึ้นไปตั้งอยู่เมืองไซ พระยาเชียงใต้คุมไพร่ไปตั้งอยู่บ้านแพงโพทอง พระยาหมื่นน่าคุมไพ่ร่ไปตั้งอยู่เมืองอวย พระยาศรีนครโลกเพี้ยจ่าหมื่นคุมไพรไปตั้งอยู่เมืองบูรณ์ใต้คอยฟังราชการแลรักษาป้องกันเขตรแดน

ครั้นศักราช ๑๒๒๒ ปีวอกโทศก ในเดือนหกขึ้นสิบห้าค่ำ นายยงบุตรมหาไชยท้าวพระยาเมืองพงยกกองทัพเข้ามาตีทัพพระยาเมืองซ้าย พระยาเมืองซ้ายนายทัพนายกองทั้ง ๔ ทัพช่วยกันรบพุ่งพวกลี้อพวกลาวตายบ้าง กองทัพพระยาเมืองซ้ายแลนายทัพนายกองทั้งปวงเสียท่วงทีแตกหนีลงมาน้ำปาดน้ำอู เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพ เจ้าคำปาน เจ้าสาร เจ้าก่ำ เจ้ายอด ท้าวพระยาคุมไพร่พลยกขึ้นไปตั้งอยู่น้ำปาด เมืองงอย น้ำอูทัพหนึ่ง เจ้าราชบุตรเปนแม่ทัพ เจ้าก่ำ เจ้าฮวด เจ้าเขียว เจ้าคำเพ็ง ท้าวพระยาคุมไพร่พลขึ้นไปอยู่บ้านเทียวใต้เมืองไซทัพหนึ่ง แล้วเจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตรแต่งให้นายกองยกขึ้นไปตามนายยง ถึงเมืองไซหาทันนายยงไม่ จับได้แต่ช้างพัง ๑ โค่าง ๓๘ หลัง แล้วนายยงพาครอบครัวหนีไปพักอยู่เมืองแวน ครั้นณเดือนแปดปีวอกโทศก เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตรให้นายทัพนายกองอยู่ประจำรักษาแล้วเลิกทัพกลับลงมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๒๓ ปี ในเดือนยี่ขึ้นสิบเอ็จค่ำปีรกาตรีศก นายยงท้าวพระยาเมืองล่าเมืองพงยกกองทัพมาตีเมืองบูรณ์เหนือ เมืองยั้ว เมืองบูรณ์ใต้ เมืองเงิน เมืองรวงใน เมืองอาย บ้านแพงโพทอง เมืองล่า เมืองไซซึ่งขึ้นแก่เมืองหลวงพระบาง บรรดาเจ้าเมืองท้าวพระยานายทัพนายกองซึ่งอยู่ประจำรักษาได้ออกสู้รบป้องกันเหลือกำลังทนฝีมือกองทัพนายยงไม่ได้ แตกหนีมาทางน้ำอูบ้างน้ำของบ้าง นายยงคุมกองทัพยกเข้ามาตั้งอยู่นาหินเมืองไซทัพ ๑ นาแลทัพ ๑ นาสาวทัพ๑เมืองแปงบ้านพระยาพิศวงลือเมืองล่าทัพ๑ สี่ทัพ ครั้งนั้นเจ้าเมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าอุปราชแต่งให้เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพ เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพนคุมไพร่พลยกขึ้นไปทางลาดหารเมืองงานาโคกทัพ ๑ เจ้าราชบุตรเปนแม่ทัพ พระยาคำมหาโนกพระยาเชียงเหนือคุมไพร่ยกไปทางน้ำปาดทัพ ๑ แล้วนัดให้ยกไปบรรจบกันที่เมืองไซครั้น ณ เดือนยี่แรมหกค่ำ พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพนยกขึ้นไปตั้งอยู่นาโกก แรมสิบเอ็จสิบสองค่ำ เจ้าคำปาน เจ้าพรหมายกไปตั้งอยู่เมืองงา แรมสิบสี่ค่ำ เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพยกไปตั้งอยู่ลาดหาร เจ้าราชบุตรยกขึ้นไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองงอย ครั้น ณ เดือนสามขึ้นสิบสองค่ำเจ้าคำปานเจ้าพรหมายกไปตั้งอยู่นาโกก ให้พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน เลื่อนทัพขึ้นไปตั้งอยู่เมืองแปงปากทาง แล้วนัดทัพพร้อมกันเข้าระดมตีทัพนายยง ยังหาถึงวันนัดไม่ พวกกองทัพพระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพนยกเข้าตีชิงได้ค่ายนายยงลูกหนึ่ง สู้รบกันอยู่วันหนึ่ง กองทัพพระยาเมืองขวาสิ้นลูกกระสุนดินดำ ก็ถอยทัพลงมาทางโมกกกลากลิ่งเชียงคานน้ำงาครั้น ณ เดือนสามแรมสิบเอ็จค่ำ เจ้าราชบุตรให้พระยาศรีมหาโน เพี้ยจ่าหมื่นยกเข้าตีทัพนายยง ๆ แต่งทัพออกสกัดหลัง พระยาศรีมหาโนเพี้ยจ่าหมื่นเสียท่วงทีแตกหนีไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา แต่งให้พระยาคำชมภู พระยาวรวงษาคุมไพร่ ๘๐๐ คนยกขึ้นไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมาก็ยกหนุนตามขึ้นไปทางเมืองไซ นายยงรู้ว่ากองทัพยกขึ้นไปมากก็เลิกทัพหนีไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมาให้พระยาคำชมภู พระยาวรวงษายกติดตามขึ้นไปถึงเมืองบูรณ์เหนือหาทันทัพนายยงไม่ แล้วน้อยเขยเจ้าเมืองอูเหนือ เจ้าเมืองสม เจ้าเมืองงาย พระยาสิงคำลื้อยกกองทัพเข้าล้อมตีกองทัพพระยาคำชมภู พระยาวรวงษาในเวลากลางคืนได้สู้รบกันเปนสามารถพระยาวรวงษาถึงแก่กรรมในที่รบ พระยาคำชมภูจึงถอยทัพเข้าภูน้อยงวงกลาง เจ้าราชบุตรรู้ว่าทัพพระยาคำชมภูเสียที จึงให้พระยาเชียงเหนือคุมไพร่๑๓๐๐ คนยกไปสกัดหลังทัพลื้อ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ เจ้าเมืองสมเจ้าเมืองงายกับน้องเขยเจ้าเมืองอูเหนือ ถูกปืนพวกเมืองหลวงพระบางตายในที่รบ ไพร่พลกองทัพแตกกระจัดกระจายหนีไป เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตรนายทัพนายกองเห็นราชการสงบอยู่ จึงแต่งให้นายทัพนายกองอยู่ประจำรักษาเขตรแดน แล้วเลิกทัพกลับมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช๑๒๒๔ เดือนอ้ายปีจอจัตวาศก ฮ่อซางเตอะยกกองทัพมาตีพระยาหลวงข้าต่อเปนหัวอยู่แขวงเมืองหลวงพระบาง ได้สู้รบกันประมาณสี่ห้าวัน พระยาหลวงข้าต่อทนฝีมือฮ่อซางเตอะไม่ได้แตกหนีลงมาเมืองวา เมืองงาย เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาเชียงเหนือ ท้าวคำฟั่นคุมไพร่ ๑๐๐๐ เลิศยกขึ้นไปตีฮ่อซางเตอะทนฝีมือไม่ได้แตกหนีไป

ตั้งแต่ศักราช๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศกเจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งบรรณาการไปเมืองปักกิ่งครั้งหนึ่ง มาถึงศักราช ๑๒๒๖ ปีชวดฉศกนับได้ ๑๓ ปี ยังหาได้ไปบรรณาการไม่

ในศักราช ๑๒๒๖ ปีชวดฉศก ท้าวพระยาเมืองเชียงรุ้งบอกมาถึงเมืองหลวงพระบาง ว่าวันอาทิตย์เดือนหกขึ้นหกค่ำปีชวดฉศก เจ้าราชบุตรเจ้าเมืองเชียงรุ้งถึงแก่กรรม เจ้าอังวะแต่งให้อมุขิมังษา ๑ ไพร่ ๒๐๐ คนลงมาเมืองเชียงรุ้ง ฝ่ายเจ้าปักกิ่ง ก็แต่งให้ฮ่อตัวนาย ๑ ไพร่ ๒๐๐ คนลงมาพร้อมกัน ณ เมืองเชียงรุ้ง ครั้นวันศุกรเดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำปีชวดฉศก พม่าฮ่อพร้อมกันตั้งบุตรเจ้ามหาอุปราชาเปน เจ้าเมืองเชียงรุ้ง บุตรเจ้ามหาอุปราชาคนนี้เกิดเมื่อศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก อายุได้ ๑๗ ปี ได้เปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง

ครั้นศักราช ๑๒๒๘ เดือนเก้าปีขาลอัฐศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์เมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบางขึ้นไปเมืองหลวงพระบางตามเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานพระบางให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์นำขึ้นไปไว้เมืองหลวงพระบาง เมื่อโปรดพระราชทานพระบางให้เจ้าอุปราชเจ้าราชวงษ์นั้นก็เปนมหัศจรรย์เห็นพระฉายรูปพระปฏิมากรขึ้นไปติดอยู่ที่ซุ้มพระปรางวัดจักรวรรดิราชาวาศริมกับหอที่พระบางอยู่ ขุนนางแลราษฎรแตกตื่นกันไปทำสักการบูชา มีพิณพาทย์กลองแขกแตรสังข์เวียนเทียนสมโภชรอบพระปรางเปนอันมาก แต่สมโภชอยู่นั้นประมาณสี่ห้าเดือน แต่ขุนนางราษฎรทั้งปวงที่มาดูเห็นพระฉายไม่ต้องกัน บางคนเห็นเปนสีทองบ้างสีนวนบ้างสีแดงบ้าง ดูใกล้ริมฐานพระปรางไม่เห็นเปนรูปพระฉายดูไกลจึงเห็น ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนห้าแรมสองค่ำศักราช ๑๒๒๙ปีเถาะนพศก ได้เชิญพระบางลงเรือตั้งกระบวนแห่ไปจากกรุงเทพฯ เจ้าอุปราชเจ้าราชวงษ์นำพระบางขึ้นไปถึงเมืองพิไชย ณวันเดือนแปดขึ้นค่ำหนึ่ง ไปจากเมืองพิไชยวันเสาร์เดือนแปดขึ้นห้าค่ำ ถึงเมืองหลวง พระบางวันพุฒเดือนสิบขึ้นหกค่ำปีเถาะนพศก ครั้น ณ วันเสาร์เดือนสามขึ้นค่ำหนึ่งปีเถาะนพศก กรมการเมืองพิไชยบอกส่งใบบอกเจ้าเมืองหลวงพระบางลงมา มีความในใบบอกว่า เจ้าเมืองหลวง พระบางให้เสนาบดีมีหนังสือมาถึงหลวงพิไชยชุมพลมหาดไทยเมือง พิไชยว่า เจ้าอุปราชเจ้าราชวงษ์เชิญพระบางไปถึงบ้านตาแสงแขวงเมืองหลวงพระบาง ณ วันอังคารเดือนเก้าแรมห้าค่ำ พระครู พระสงฆ์เจ้าเมืองหลวงพระบาง เสนาบดี ไพร่บ้านพลเมืองพร้อมกันมารับพระบางไปพักอยู่ที่ท่าเชียงแมน มีการสมโภช ๑๕ วัน ณวันพุฒ เดือนสิบขึ้นหกค่ำ เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เสนาบดี พระสงฆ์สามเณร แลไพร่พลเมืองทั้งปวง เชิญพระบางลงเรือตั้งกระบวนแห่มีพิณพาทย์แตรสังข์มโหรทึก ข้ามน้ำไปขึ้นท่าวัดช้างสรงน้ำพระบางเสร็จแล้วตั้งกระบวนแห่ช้างม้ามีพิณพาทย์เครื่องเล่นต่าง ๆ แห่พระบางไปไว้ในหอนั่งเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เลี้ยงพระ มีเทศนามีลครสมโภช๕ วัน ๕ คืน แล้วเกณฑ์คนผลัดเปลี่ยนกันรักษาพระบางอยู่ทุกวันเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร เสนาบดีทั้งปวง ให้ช่างสร้างวิหารไว้พระบางในวังเจ้าเมืองหลวงพระบางก่อแต่ดินขึ้นไปถึงพื้นสูง ๔ ศอกคืบ แต่พื้นไปถึงหัวเทียนสูง ๙ ศอก คืบขื่อกว้าง ๓ วา ยาว ๖ ห้องมีเฉลียงรอบให้ช่างทำเปนมณฑป ๓ ชั้น ช่างยังทำอยู่ทุกวัน ทำเสร็จแล้วจะได้เชิญพระบางขึ้นสถิตย์อยู่ให้สมควร อนึ่งราชการทางเมืองไซก็ได้แต่งให้พระยาเมืองขวา เพี้ยล่ามขึ้นไปตั้งเมืองล่า เมืองไว เมืองอาย เมืองเงิน เมืองยอ เมืองบูรณ์เหนือ เมืองบูรณ์ใต้ พระยาเมืองขวา เพี้ยล่ามมาแจ้งว่า ราชการทางเมืองขวา เมืองอาฮิน เมืองไลสงบอยู่ ฝ่ายเมืองแถงแลหัวพันทั้งหก ก็มาคำนับทุกปีมิได้ขาด ถ้ามีราชการประการใด จะบอกลงมาให้ทราบครั้งหลัง บอกมา ณ วันเสาร์เดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบสี่ค่ำปีเถาะนพศก

……………………………………..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น