วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

พงศาวดารเมืองหนองคาย


พงศาวดารเมืองหนองคาย และประวัติศาสตร์พื้นเมืองหนองคาย ฉบับสมบูรณ์ที่สุด อ้างอิงจาก www.nongkhaitrip.com

การตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
บริเวณลุ่มน้ำโมง (ห้วยโมง) อ.ท่าบ่อ พบว่ามีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ มีชื่อเรียกว่า "แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน" อยู่ที่ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ หม้อดินโบราณที่ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน เป็นชนิดที่ไม่มีสี แต่มีลายเล็บขูด ลายเชือกทาบ นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับหินแก้วทั้งลูกปัด กำไล เศษสำริด จำนวนมาก ชาวบ้านบางคนมีเครื่องมือหินพวก ขวานหินขัด หัวธนูหิน เครื่องมือหินเหล่านี้น่าจะมีมาก่อนยุคบ้านเชียง รอบโบสถ์วัดศรีสะอาดกลางหมู่บ้าน มีเสมาหินสมัยทวาราวดีและครกหินใหญ่ที่น่าจะเป็นเบ้าหลอมโลหะ เชื่อว่าคนโบราณบ้านโคกคอนแห่งนี้ จะต้องสัมพันธ์กับภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีแน่นอน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นยังพบ "เหรียญเงินฟูนัน" อายุประมาณ ๒ พันปีด้วย ซึ่งเหรียญเงินชนิดนี้เคยมีการพบที่เมืองออกแก้วทางเวียดนามใต้ ปากแม่น้ำโขงก่อนออกทะเล และที่เมืองอู่ทองโบราณ จังหวัดสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรีโบราณ จังหวัดนครปฐมก็พบ การพบเหรียญเงินสมัยฟูนันเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีมีพัฒนาการมา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนต่อเนื่องมาถึงยุคตอนต้นประวัติศาสตร์ด้วย ทั้งยังมีการติดต่อเชื่อมโยงทางสังคมกับดินแดนอื่นด้วย นอกจากนี้ยังพบกระดูกมนุษย์กระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีนี้ ส่วนเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ถือว่าเป็นยุคแรก ๆ นี้ พบมากในเขตตอนเหนือของจังหวัดหนองคาย และทางตอนเหนือของจังหวัดหนองคายยังเป็นแหล่งถลุงโลหะสมัยโบราณ มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโลหะ หนองคายพบที่ ภูโล้น อ.สังคม ซึ่งเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ทองแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกแห่งหนึ่งคือบ้านหนองบัว ต.โคกคอน อ.ท่าบ่อ พบว่าเป็นแหล่งถลุงแร่โลหะขนาดใหญ่พอสมควร

การตั้งถิ่นฐานในสมัยตอนต้นประวัติศาสตร์

เมื่อชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้มีพัฒนาการทั้งทางสังคม การเมือง การปกครอง มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ก็ปรากฏว่ามีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของคนในหนองคาย หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงบ้านเมืองในแถบจังหวัดหนองคาย-เวียงจันทน์ มาตั้งแต่ยุคเจนละหรือฟูนัน และมีการปกครองที่เป็นอิสระจากอาณาจักรอื่น แต่มีการติดต่อกับอาณาจักรใกล้เคียงมาโดยตลอด ดังแสดงให้เห็นในโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบมากอยู่ในเขตจังหวัดหนองคายรวม ทั้งฝั่งนครเวียงจันทน์ ทั้งยังมีหลักฐานจากลายลักษณ์อักษรที่อาณาจักรใกล้เคียงและประเทศโพ้นทะเล ติดต่อด้วยได้บันทึกไว้ถึงบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณหนองคาย-เวียงจันทน์ ดังที่ รศ.ดร.ธิดา สาระยา ได้วิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์อีสานไว้ในเรื่องอาณาจักรเจนละว่า "ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓๑๔ ชี้ว่าบ้านเมืองบริเวณทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งขุนเขาและลุ่มน้ำ เป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเรียกว่าพวกเจนละบก

จังหวัดหนองคายนี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติ ศาสตร์อย่างแน่นอนโดยมีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมต่อเนื่องมาโดยตลอด จนถึงยุคที่มีหลักฐานชัดเจนทางโบราณคดี เช่น ศิลาจารึก ศิลปกรรมในโบราณสถาน โบราณวัตถุยุคต่าง ๆ ปรากฏหลงเหลือเป็นร่องรอยของยุคสมัยแต่ละยุคสมัย โดยที่ผู้คนหรือชุมชนมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยไปตามภาวะ เหตุการณ์ทางการเมืองการปกครอง มาตามลำดับ โดยเฉพาะเป็นช่วงประวัติศาสตร์อีสานโบราณที่ตรงกับยุคเจนละของโบราณ (ตามคำเรียกในเอกสารจีน) ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔๑๕ ช่วงลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางแถบจังหวัดหนองคาย-เวียงจันทน์ ที่มีเอกสารจีน เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า "เจนละบก"

ช่วงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มประชากรในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒๑๖ ต่อเนื่องและซ้อนทับกันในเรื่องของการรับอิทธิพลความเชื่อ ศาสนา จึงเรียกช่วงเวลานี้ว่าสมัยทวาราวดี โดยมีหลักฐานทางศิลปกรรมของเจนละปะปนอยู่ในช่วงกลางสมัยทวาราวดี แล้วจึงปรากฏอิทธิพลศิลปะขอมและลพบุรี ในช่วงทวาราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๑๖๑๙) ชนพื้นเมืองแถบหนองคาย - เวียงจันทน์ อุดรธานี ได้รับเอาอิทธิพลความเชื่อของขอมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้หมายถึงการยอมรับอำนาจการปกครองของชนชาติขอมทางด้านลุ่มแม่น้ำโขงตอน ล่างด้วย จนกระทั่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙๒๐ อำนาจขอมเสื่อมลงจึงปรากฏกลุ่มประชากรล้านช้างอพยพมาตั้งมั่นอยู่ที่ลุ่มแม่ น้ำโขงตอนนี้ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

พัฒนาการในประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองกับชื่อบ้านนามเวียง

พัฒนาการในประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองกับชื่อบ้านนามเวียง ในสมัยประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่บนพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีลำดับความเป็นมาและอายุต่างๆ กัน ดังนี้

เวียงคำ-เวียงคุกคู่แฝดเวียงจันทน์ ปรากฏชื่อเรียกทางฝั่งหนองคายปัจจุบันว่า "เวียงคุก" ที่อำเภอเมืองติดเขตอำเภอท่าบ่อ อยู่ตรงข้ามกับเมืองเวียงคำ (เมืองซายฟอง) ทางฝั่งลาว ทั้งเวียงคำ-เวียงคุก น่าจะเป็นเมืองเดียวกัน พบหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุร่วมสมัยกันทั้งสองฝั่ง มีทั้งเสมาหินทวาราวดีลพบุรี ต่อเนื่องถึงล้านช้าง

ความสำคัญของเวียงคำ - เวียงคุก นี้นับเป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของคนหนองคายโบราณในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๔๒๐ โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบหลักฐานที่เกี่ยวกับอำนาจการปกครองเหนือดินแดนนี้ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทั้งฝั่งเวียงคำ - เวียงคุก ทั้งนี้ตามหลักฐานปรากฏว่าฝั่งเวียงคุกของไทย (ชื่อเต็มคือเวียงคุคำ ที่หมายถึง ครุตักน้ำ ต่อมา "คุคำ" กร่อนเสียงเป็น "คุค" และ "คุก" ดังในปัจจุบัน เข้าใจว่าเวียงคุกคำในปัจจุบันก็คือเวียงคำในอดีตนั่นเอง) รวมทั้งที่ตั้งของวัดพระธาตุบังพวนซึ่งอยู่ถัดจากฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามา ๕ กิโลเมตร มีซากวัดและพระสถูปเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ รวม ๑๐๐ กว่าแห่ง ที่จะทำให้การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของศิลปะล้านช้างได้ดี กว่าที่อื่น

เวียงงัว ปรากฏชื่อในตำนานพระอุรังคธาตุว่าพระรัตนเถระและจุลรัตนเถระได้นำพระบรมธาตุ เขี้ยวฝาง ๓ องค์มาประดิษฐานไว้ที่โพนจิกเวียงหัว "งัว" คือวัวในสำเนียงภาคกลางและเชื่อว่าเป็นพื้นที่ในตำบลบ้านฝาง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เล่าสืบต่อกันมาถึงตำนานสำคัญของชุมชนโบราณแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนหนองคาย รวมทั้งภูพระบาทในจังหวัดอุดรธานีด้วยก็มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของชุมชนแถบ นี้เช่นกัน

พระธาตุเวียงงัว เป็นรูปแบบศิลปแบบปะโค(สำเนียงเขมรว่าเปรียะโค)ของเขมรโบราณ พ.ศ. ๑๔๒๐ ๑๔๔๐ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕) มีทั้งเทวาลัย ภาพสลักหิน และประติมากรรมหินในกัมพูชาต่อเนื่องจากศิลปะแบบกุเลน (จามกับชวา) มีประสาทปะโค โลเลย บากอง เป็นต้น และคงส่งอิทธิพลขึ้นมาถึงโพนจิกเวียงงัวด้วย เสียดายที่เทวรูปหิน ประติมากรรมสำคัญ บางวัดนำปูนพอกแปลงเป็นพระพุทธรูปแล้วแต่จากรูปถ่ายเก่าที่ผู้สนใจเคยถ่าย ไว้ ผู้เชี่ยวชาญเขมรดูแล้วปรากฏว่าเป็นศิลปะแบบปะโค
เวียงนกยูง อยู่ติดห้วยโมง เขตกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก มีเสมาหินยุคทวาราวถึง ๕๒ ชิ้น ซึ่งได้ขนย้ายไปไว้ที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ ปรากฏชื่อปากโมงหรือห้วยโมงนี้ ในตำนานพระอุรังคธาตุว่า หมื่นนันทอาราม มีครัว ๕๐,๐๐๐ ครัว อพยพมาตั้งอยู่ปากห้วยนกยูงหรือปากโมงก็เรียกห้วยโมงมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพานแดนที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์ภู พระบาท จากหลักฐานโบราณสถานโบราณวัตถุต่าง ๆ ตามเส้นทางนี้พบว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่มากและน่าจะเป็นถึงเส้นทางการค้า ในสมัย สามเหลี่ยมทองคำโบราณด้วย โมงไม่มีในภาษาถิ่นอีสานแต่ในภาษาของชาวโส้(กะโซ่ ข่าโซ่) ซึ่งพูดภาษาตระกูลมอญ เขมร (ยังมีคนชาวโส้อาศัยอยู่ที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย) มีคำว่า โหม่งแปลว่า นกยูงและที่โบสถ์พระเจ้าองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเดิมห้วยโมงมาออกแม่น้ำโขงตรงนี้มีเจดีย์สำคัญเป็นที่หมายเรียกว่า ธาตุนกยูง

เปงจานนครราช กิ่งอำเภอรัตนวาปีปัจจุบัน บริเวณที่ทำการนิคมสร้างตนเอง มีเสมาหินขนาดใหญ่เหลืออยู่ชิ้นหนึ่งที่เหลือรอดจากการกวาดทิ้งลงแม่น้ำโขง เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าพ่อเปงจานมีอายุอยู่ในยุคทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่ฐานมีอักษรปัลลวะอินเดียจารึกไว้ แต่เลอะเลือนจนอ่านไม่ได้ ยังมีร่องรอยของเมืองโบราณอยู่ทั่วบริเวณริมแม่น้ำโขงเป็นแนวยาวถึง 10 กิโลเมตร  เมื่อลองขุดลึกลงไปใต้บริเวณนี้เพียงไม่กี่นิ้วก็พบซากกองอิฐกองอยู่ มาก สันนิษฐานได้เลยว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง
เมืองหล้าหนอง -หนองคาย หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของเมืองหล้าหนองคือ พระธาตุหนองคาย เชื่อว่าเป็นพระธาตุฝ่าตีนขวา อายุราว ๆ เดียวกับพระธาตุบังพวน ในตำนานพระอุรังคธาตุก็มีกล่าวไว้ตอนเดียวกับการอพยพของเจ้านายราชวงศ์เมือง ร้อยเอ็จมาตั้งบ้านเมืองอยู่เมืองสุวรรณภูมิแต่ก่อน “...นางน้าเลี้ยงพ่อนมจึงพาเจ้าสังขวิชกุมารออกมาตั้งเมืองอยู่หนอง...ให้ ชื่อว่า เมืองลาหนองตลอดไปถึงปากห้วยบางพวนเมืองลาหนองหรือเมืองหล้าหนอง ในตำนานอุรังคธาตุ คือเมืองเดียวกันสมัยนั้นเชื่อว่ายังไม่มีคำว่า คายปรากฏ (คายมาจากคำว่า ค่ายซึ่งมาจากคำว่า ค่ายบกหวาน สมัยที่กองทัพไทยมาตั้งค่ายตีเมืองเวียงจันทน์อยู่บริเวณริมหนอง มีต้นบกหวานจึงเรียกว่า หนองค่ายบกหวาน ซึ่งกลายมาเป็นนิมิตชื่อเมืองหนองคายปัจจุบัน) ต่อมาพระอรหันต์ 8 รูป ได้นำพระบรมธาตุมาบรรจุที่นี่ สมัยต่อมาสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงสร้างพระเจดีย์ครอบพระธาตุฝ่าตีนขวานั้นไว้ จนกระทั่งแม่น้ำโขงไหลกัดเซาะตลิ่งพัง เป็นผลให้พระธาตุล้มจมลงอยู่ในแม่น้ำโขงมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๓๘ เอเจียน แอมอนิเย เดินทางผ่านมาหนองคายก็พบว่าพระธาตุจมอยู่แต่ก่อนแล้ว) เห็นแต่เพียงยอดฐานกลางแม่น้ำโขงเวลาหน้าน้ำต้องทำเครื่องหมายไว้ พอหน้าแล้งก็จะเห็นส่วนยอดฐานพระธาตุโผล่อยู่กลางแม่น้ำโขง ชาวบ้านยังให้ความเคารพกราบไหว้ เชื่อกันว่าเวลาเข้าพรรษาจะมีพญานาคมาถือศีลภาวนาอยู่บริเวณพระธาตุหนองคาย นี้เป็นประจำ

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองต่างๆ ในสมัยราชอาณาจักรล้านช้าง เชียงทอง หลวงพระบาง-เวียงจันทน์

1. เมืองปากห้วยหลวง มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรล้านช้างเชียงทอง(หลวงพระ บาง) โดยเจ้าเมืองปากห้วยหลวง มีราชทินนามว่า พระยาปากห้วยหลวงเมืองปากห้วยหลวงน่าจะเป็นบ้านเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยปลายทวาราวดี ปรากฏชื่อเมืองปากห้วยหลวงในพงศาวดารลาวมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแห่ง อาณาจักรล้านช้าง ประวัติศาสตร์ลาว ที่มหาสิลา วีระวงศ์ เรียบเรียงไว้ถึงตอนที่พระเจ้าฟ้างุ่มยกทัพมาตีเอาเวียงจันทน์ เวียงคำ และบ้านเมืองแถบทางใต้อาณาจักรล้านช้างเชียงทอง เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๘ และได้จัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรล้านช้างใหม่ให้ เวียงปากห้วยหลวงจัดอยู่ในเมือง เช่นเดียวกับเวียงจันทน์ เวียงคำ และให้พระยาปากห้วยหลวงเป็นเจ้าเมือง เมื่อสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่นครเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๓ แล้วเมืองปากห้วยหลวงก็ยังมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงดังที่เคยเป็นมา
หลักฐานที่พบในเมืองโบราณปากห้วยหลวง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ปากน้ำห้วยหลวงหรือที่ตั้งของอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายปัจจุบัน พบว่ามีซากวัดร้างจำนวนมาและวัดที่ยังใช้การอีกจำนวนหนึ่งและพบว่ามีศิลา จารึกมากที่สุดแห่งหนึ่งในการสำรวจเมืองโบราณภาคอีสานและลาวเป็นศิลาจารึก ด้วยอักษรไทยน้อย (คล้ายอักษรลาว) ซึ่งปรากฏนามพระยาปากห้วยหลวงองค์สำคัญ ดังต่อไปนี้

เจ้าชายมุย
เจ้าชายมุย เป็นโอรสของท้าวคำเต็มซ้า เจ้าเมืองปากห้วยหลวง (ท้าวคำเต็มซ้า เป็นพระราชโอรสของพระยาสามแสนไทไตรภูวนาถ กษัตริย์เมืองเชียงทองต่อจากพระเจ้าฟ้างุ้ม) ภายหลังเมื่อเจ้าเมืองปากห้วยหลวงพระบิดาสวรรคต จึงได้เป็นพระยาปากห้วยหลวงต่อจากพระบิดา เมื่อท้าววังบุรีเจ้าเมืองเวียงจันทน์ขึ้นไปเสวยราชย์ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๙ (พระนามใหม่ว่าสมเด็จพระไชยจักรพรรดิ์แผ่นแผ้ว”) เจ้าชายมุยจึงได้ขึ้นไปครองเมืองเวียงจันทน์แทนตั้งแต่นั้น ภายหลังเจ้าชายมุยและเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์คิดแยกตัวเป็นเอกราช จากราชอาณาจักรล้านช้างเชียงทองในพงศาวดารลาว ฉบับกะซวงสึกสาทิกาน (ลาว) บันทึกตอนนี้ว่า เจ้าชายมุยเป็นกบฏและถูกปลงพระชนม์ในรัชกาลพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วนั่น เอง

พระยาจันทร์
พระยาจันทร์ เป็นเจ้าเมืองปากห้วยหลวงสืบต่อจากเจ้าชายมุย ปรากฏชื่อพระยาจันทร์ในศิลาจารึกวัดแดนเมือง ๒ (พระเจ้าโพธิสาลราช สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๘ พระองค์ครองเมืองเชียงทอง พ.ศ. ๒๐๖๓ - ๒๐๙๓) ว่า “...ข้อยกับวัดกับพระ แต่ชายมุย แลลุงพระยาจันทร์ ได้หยาดน้ำไว้ ว่าไผยังถอนออกไปหาชุนให้เอาไว้ดังเก่า...จารึกวัดแดนเมือง ๒ ที่พระเจ้าโพธิสาลราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อคราวเสด็จมาอุทิศที่ดินและสิ่งของให้กับวัดแดนเมือง โดยจารึกดังกล่าวยังมีข้อความถึงเจ้าเมืองปากห้วยหลวงคนก่อนที่เคยอุทิศ ที่ดินและข้าวัดแก่วัดแดนเมืองก่อนพระองค์จะเสด็จมาบูรณะวัดแดนเมืองและ สร้างสิลาจารึกหลักนี้ไว้ด้วย
พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย
พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย เป็นเจ้าเมืองปากห้วยหลวงสืบต่อจากพระยาจันทร์ สมัยนี้เมืองปากห้วยหลวงมีบทบาททางการเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างมากกว่า สมัยใด ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งทรงให้พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมด้วย (เพี้ยเมืองแสน) เคยเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในคราวไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๘ เมื่อทรงย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ที่เวียงจันทน์ ก็ได้เป็นกำลังหลักช่วยเหลือการสร้างพระนครเวียงจันทน์ ธาตุหลวง งานพระราชสงครามทุกแห่งและเป็นผู้สำเร็จราชการปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทน์ หลังจากสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคตเมื่อคราวทำสงครามกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๔
เมืองปากห้วยหลวงในสมัยพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย ถือว่าเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนครหลวงเวียง จันทร์มาก เนื่องจากพระมเหสี เจ้าจอมมณีของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็คือบุตรีของพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย ที่ทรงเป็นพระราชมารดาของพระหน่อแก้ว (มุกปาฐะชาวหนองคายว่า ทรงมีพระราชธิดาอีก ๓ พระองค์ คือ เจ้าหญิงสุก เจ้าหญิงเสริม เจ้าหญิงใส ซึ่งได้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ขึ้น ๓ องค์ คือ พระสุก พระเสริม พระใส) ที่เมืองปากห้วยหลวง สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเสด็จมาสร้างวัดถิ่นดุ่ง (ปัจจุบันชื่อวัดผดุงสุข) เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๔ ซึ่งเป็นปีที่สองหลังจากที่ทรงย้ายราชธานีจากเชียงทอง (หลวงพระบาง) มานครเวียงจันทร์แล้ว และยังปรากฏหลักฐานเป็นศิลาจารึกวัดผดุงสุขที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของ เมืองปากห้วยหลวง และคาดว่าน่าจะมีการบูรณะวัดวาอารามจำนวนมากด้วยเช่นกัน
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสวรรคต (หายสาบสูญในสงครามล้านช้างกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๔) พระหน่อแก้ว พระราชโอรสองค์สุดท้องยังทรงเยาว์วัยอยู่มากและน่าจะประทับอยู่กับพระยาแสน สุรินทร์ลือชัย ผู้เป็นพระอัยกา (ตา) อยู่ที่เมืองปากห้วยหลวงนครเวียงจันทน์ขาดกษัตริย์ พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย จึงสถาปนาตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนทรงพระนามว่า พระเจ้าสุมังคลาไอยโกโพธิสัตว์จากพระนามนี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ยกตนเป็นกษัตริย์แทนเพื่อรักษาตำแหน่ง กษัตริย์ที่แท้จริงไว้ให้กับหลานคือพระหน่อแก้วนั่นเอง ดังปรากฏในศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา ๒ ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๕ ว่า สมเด็จบพิตรพระเจ้าชื่อสุมังคลโพธิสัตว์ไอยกัศรราชสิทธิเดชลือชัยไกรภูวนา ธิบดีศรีสุริวงศา แลบพิตรรัตนประโชติเสตตคัชอัศจรรย์ทสุวรรณขัคสาลราชกุมาร..หมายความว่าแผ่นดินราชอาณาจักรล้างช้างเวียงจันทน์มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ถึง ๒ พระองค์ คือ พระองค์และหลานนั่นเอง ต่อมาเวียงจันทน์ตกเป็นของพม่าต้องส่งส่วยให้พม่าพระหน่อเมืองและพระเจ้าสุ มังคลาไอยโกโพธิสัตว์ถูกจับไปอยู่เมืองพม่า แล้วให้พระมหาอุปราชาวรวังโส(พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) มาครองเมืองเวียงจันทน์แทน ภายหลังมีเหตุกบฏในเวียงจันทน์ พม่าจึงส่งพระสุมังคลาไอยโกโพธิสัตว์กลับมาครองเมืองเวียงจันทน์ ในปี 2123ครองราชย์อยู่ได้อีก ๒ ปี ก็เสด็จสวรรคต ในปี ๒๑๒๕ รวมพระชนมายุ ได้ ๗๕ พรรษา ต่อมาพระยานครน้อย บุตรพระสุมังคลาไอยโกโพธิสัตว์ จึงได้เป็นเจ้าแผ่นดินครองเวียงจันทน์ต่อ(ก่อนหน้านั้นน่าจะเป็นเจ้าเมือง ปากห้วยหลวงอยู่) แต่ไม่ถึงปีก็ถูกจับส่งไปกรุงหงสาวดีเพราะชาวเมืองไม่นิยมเห็นว่าไม่ใช่ เชื้อชาติกษัตริย์แท้ ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์จึงว่างจากกษัตริย์อยู่ถึง ๗ ปี
พระเจ้าวรรัตนธรรมประโชติเสตตคัชฯ และเมืองปากห้วยหลวง
พระหน่อแก้ว ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์เมื่อเสนาอำมาตย์และคณะสังฆราชเวียงจันทน์ ได้พร้อมกันไปขอเอาพระหน่อแก้วจากกรุงหงสาวดีคืนมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๑๓๔ ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ทรงมีพระนามว่า "พระวรรัตนธรรมประโชติเสตตคัชอัศจรรย์สุวรรณ สมมุติอัครรัตนสาลราชบพิตร"

เมื่อครองราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสานาให้เจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองที่เคยแข็งข้อก็ยอมอ่อนน้อมถวายเครื่องราชบรรณาการตามเดิมทรงเสด็จ มาเมืองปากห้วยหลวงอยู่เนือง ๆ เนื่องจากยังมีพระญาติวงศ์ฝ่ายพระราชมารดาอยู่ในเมืองนี้ทรงสร้างวัดมุจลิ นทอาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๗ ให้พระมหาสังฆราชามุจลินทมุนีจุฬาโลกประทับอยู่ พระวรรัตนธรรมประโชติฯ ครองราชย์อยู่จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๔๑ ก็เสด็จสวรรคต
เมืองปากห้วยหลวงสมัยขึ้นกับราชธานีไทย
ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เรียกปากห้วยหลวงว่าเมืองโพนแพน หลังปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙๒๓๗๐ โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอ บุตรหลานเจ้าเมืองยโสธร ซึ่งได้รับความดีความชอบในการช่วยทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ให้เป็นพระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ และในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯให้ท้าวตาดี บุตรพระขัตติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระพิชัยสุริ-ยวงศ์ เจ้าเมืองโพนแพนด้วย (โพนพิสัย น่าจะมาจากพระราชทินนามของเจ้าเมือง คำถิ่นลาวอีสานออกเสียง "พิชัย" เป็น "พิซัย" แต่ก่อนอาจจะเรียกเมืองโพนแพนเป็นเมืองโพนพระพิชัย ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นเมือง โพนพิสัย ; ผู้เรียบเรียง อมรรัตน์ ปานกล้า) กระทั่งรัชกาลที่ ๕ เรียกเมืองปากห้วยหลวงโบราณ หรือเมืองโพนแพนเป็นเมืองโพนพิสัย (เอเจียน แอมอนิเย บันทึกการเดินทางในลาว พ.ศ. ๒๔๓๘ เรียกว่า เมืองโพนพิสัย) เกิดเหตุโจรฮ่อยกพวกมาปล้นสดมภ์ตามชายพระราชอาณาเขตจนถึงเวียงจันทน์และ หนองคาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ และตั้งมั่นอยู่ที่เวียงจันทน์ ครั้งนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคาย มาช่วยราชการพระยามหาอำมาตยาธิบดี(ชื่น กัลยาณมิตร) ที่เมืองอุบลราชธานี สั่งให้กรมการเมืองหนองคายอยู่ดูแลเมือง เมื่อโจรฮ่อบุกปล้นสดมภ์ก็เกิดความกลัวพากันหลบหนีไม่อยู่ป้องกันเมือง ฝ่ายเจ้าเมืองโพนพิสัย คือพระพิสัยสรเดช (หนู) ได้รับคำสั่งจากเมืองอุบลฯ ให้เกณฑ์คนไปช่วยเวียงจันทน์ พอไปถึงหนองคายเจ้าเมืองโพนพิสัยเกิดกลัวโจรฮ่อขึ้นมา จึงหวนกลับไม่คิดสู้ป้องกันเมือง เมื่อพระยามหาอำมาตยาธิบดี(ชื่น กัลยาณมิตร) เกณฑ์ทัพจากหัวเมืองลาว เขมรฝ่ายตะวันออกมาถึงหนองคายและปราบฮ่อจนแตกหนีไปทางทุ่งเชียงคำแล้ว จึงรับสั่งให้หาตัวกรมการเมืองหนองคายและเจ้าเมืองโพนพิสัย มาตัดหัวประหารชีวิตเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป
เมืองโพนพิสัย หลังการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอีสาน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (รศ.๑๑๒) สยามถูกกดดันจากฝรั่งเศส ห้ามไม่ให้มีกองทหารติดอาวุธอยู่ในบริเวณ ๒๕ กิโลเมตรจากชายแดน จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ทำการมณฑลลาวพวนจากเมืองหนองคายมาตั้งอยู่ที่บ้าน เดื่อหมากแข้ง เมืองโพนพิสัยมีฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นอำเภอโพนพิสัยขึ้นกับเมืองอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๘ อำเภอเมืองหนองคาย ซึ่งเคยเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองอุดรธานี ได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัดหนองคายอำเภอโพนพิสัยจึงได้ขึ้นกับจังหวัด หนองคายตั้งแต่นั้นมา
เมืองเวียงคุก (เวียงคำ)
เมืองเวียงคุกในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ เมืองเวียงคำ (เวียงคุก) เป็นคู่แฝดของเมืองเวียงจันทน์ ในขณะที่ศูนย์อำนาจการปกครองของพวกลาวล้านช้างยังอยู่ทางแคว้นเหนือ ซึ่งหลักฐานที่มีอยู่ในเมืองเวียงคุกเริ่มปรากฏชัดขึ้นในสมัยทวาราวดีตอนต้น จนถึงตอนปลายเนื่องจากพบทั้งเทวรูปหินสมัยก่อนพระนคร (นครวัด - นครธม) ที่วัดยอดแก้ว สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นรูปเคารพพระอิศวร ของกลุ่มผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู นอกจากนี้ก็มีเสมาหินในพระพุทธศาสนาสมัยทวาราวดีอีกมากตามโบราณสถานวัดวา อารามเก่าในเขตเมืองเวียงคุกรวมทั้งศิลปสมัย ทวาราวดีแบบลพบุรีด้วย
สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ ตรงกับช่วงการสร้างบ้านแปงเมืองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งนักประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ชาวสยาม ชาวสุโขทัย ก็คือกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางเวียงจันทน์ - เวียงคำ (เวียงคุก) ที่พัฒนาการเมืองการปกครองจนกระทั่งสามารถขับไล่อำนาจขอมให้พ้นไปจากแว่น แคว้นของตนเองได้ พร้อมทั้งทำการแผ่อิทธิพลของกลุ่มตนไปยังดินแดนที่เคยเป็นของขอมมาก่อนด้วย สรุปว่าชาวสยาม สุโขทัย คือกลุ่มที่อพยพไปจากเมืองเวียงจันทน์ - เวียงคำนั่นเอง
ปัจจุบันเมืองเวียงคุกมีฐานะเป็นตำบลเวียงคุก อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองคายนอกจากเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ด้วย ซากโบราณทั้งที่ใช้การได้และไม่ได้กว่า ๑๐๐ แห่ง ในเขตเมืองเวียงคำโบราณแล้ว พระธาตุบังพวนยังเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธทั้งในจังหวัดหนองคายและภาคอีสาน มาจนถึงทุกวันนี้ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมศิลปากรประกาศเป็นเขตโบราณสถาน
เมืองพานพร้าว (ศรีเชียงใหม่)
เมืองพานพร้าว เป็นตำบลที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายปัจจุบันซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเวียงจันทน์ โดยเริ่มต้นเป็นบ้านเป็นเมืองมาพร้อมๆ กับการตั้งเมืองเวียงจันทน์ในสมัยทวาราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๑๔๑๖) ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองฟากแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งเวียงจันทน์และเมืองพานพร้าวในยุคเริ่มต้นการสร้างบ้านแปงเมืองคือ กลุ่มเดียวกัน มีวัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน (ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมที่กลุ่มคนพื้นเมืองยังนับถือผีและนาค) บริเวณที่ตั้งเมืองพานพร้าวในอดีตหรืออำเภอศรีเชียงใหม่ปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นชุมชนบ้านขนาดใหญ่ในขณะที่เมืองเวียงคุก - ซายฟอง เริ่มต้นพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมืองมาก่อน พอมาถึงสมัยที่เวียงจันทน์กลายเป็นบ้านเป็นเมือง ชุมชนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็คงจะเริ่มขยายตัวมากขึ้นไปพร้อมๆ กับเวียงจันทน์ แต่ไม่มีความสำคัญมากนัก จึงยังไม่มีชื่อเฉพาะเรียกชุมชนบริเวณฝั่งซ้ายจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๐๗๘ ซึ่งเป็นระยะหลังของราชอาณาจักรล้านช้างเชียงทอง (หลวงพระบาง) ที่ได้แผ่อิทธิพลครอบคลุมไปทั่วทั้งดินแดนทางใต้และตะวันตกของอาณาจักรแล้ว
ในสมัยอาณาจักรล้านช้างเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมายังเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. ๒๑๐๓ แล้วทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดำเนินตามรอยบรรพชนผู้สร้างนครเวียงจันทน์ ด้วยการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุสำคัญ จนเป็นผลให้มีศิลปวัตถุสถานที่ผสมผสานกันระหว่างแบบล้านนา กับแบบล้านช้างดังนี้คือ

"พระเจ้าองค์ตื้อ" พระพุทธรูปขนาดใหญ่หนัก 1 ตื้อ (ประมาณ ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม "ตื้อ" เป็นมาตรวัดของคนล้านนา) ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๕ คาดว่าเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระนางยอดคำทิพย์ พระบรมราชชนนีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทั้งกำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการพระเจ้า องค์ตื้อทุกเดือน ๔ เสด็จพร้อมขบวนช้างมาราบ มาสักการะจากวัดท่าคกเรือ - ถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อ ด้วยระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตรถนนนี้จึงมีชื่อว่า "จรดลสวรรค์" ถึงทุกวันนี้
เมืองพานพร้าวในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเมืองปราการด่านหน้าพร้อมค่ายคูประตูหอรบมั่นคงแข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการรักษานครเวียงจันทน์ ดูจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ตอนเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่๑ ) จอมทัพของพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรียกพลตีเอาเวียงจันทน์ใน พ.ศ. ๒๓๒๑หลังจากตีเมืองเวียงคุก เมืองปะโค ได้แล้วยังต้องผ่านด่านเมืองพานพร้าวก่อน ปรากฏว่าต้องล้อมเมืองพานพร้าวอยู่นานถึง 4 เดือน จึงสามารถเข้าเมืองพานพร้าว และเมืองเวียงจันทน์ ภายหลังเมื่อล้านช้างทั้งหมดตกเป็นของไทยในสมัยกรุงธนบุรีแล้ว ตั้งแต่นั้นมาเมืองพานพร้าว รวมทั้งดินแดนฝั่งซ้ายและขวาของล้านช้างก็อยู่ในการดูแลของไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีครั้นถึงเวลาสงคราม เช่น กบฏเจ้าอนุวงศ์ และการปราบฮ่อภายหลัง เหมือนกับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดจะเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ และกลายเป็นที่มั่นตามแนวชายแดนของกองทัพไทย เมืองพานพร้าว จึงได้กลายเป็น "ค่ายพานพร้าว" ค่ายที่มั่นชั่วคราวของกองทัพไทย คราวนั้นเจ้าพระยาจักรี ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง มาประดิษฐานไว้ที่ฝั่งค่ายพานพร้าว โดยสร้างหอพระแก้วชั่วคราวเพื่อการนี้ ส่วนราษฎรชาวเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพานพร้าว ปะโค และเวียงคุกจากนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางพร้อมทั้งนำเชื้อพระ วงศ์เวียงจันทน์ข้าราชการ กรมการเมือง รวมทั้งราษฎรชาวเวียงจันทน์ที่เหลือลงไปกรุงเทพฯ

เวียงจันทน์ รวมทั้งเมืองพานพร้าวในสมัยเจ้าอนุวงศ์ เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งทรงดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งใน เวียงจันทน์ และเมืองใกล้เคียง รวมทั้งเมืองพานพร้าวด้วย ทรงสร้างวัดขึ้นที่ฝั่ง พานพร้าว คือวัดช้างเผือก และสร้างหอพระแก้วขึ้นที่วัดช้างเผือกนี้ด้วย เพื่อเป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทั้งยังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้นที่ฝั่งวัดช้างเผือกมายังฝั่ง เวียงจันทน์ ดังหลักฐานจากศิลาจารึก ณ หอพระแก้ว (เป็นศิลาจารึกขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน อ่านโดย ศ.ธวัช ปุณโณทก) ระบุว่า พ.ศ. ๒๓๕๕ กษัตริย์ทรงสร้างวัดนี้และถวายปัจจัยทานต่าง ๆ จำนวนมากทั้งทรงสร้าง "สะพานข้ามแม่น้ำโขง" บริเวณนี้ด้วย จึงแสดงให้เห็นว่า สมัยเจ้าอนุวงศ์ที่ทรงมีความตั้งพระทัยจะกอบกู้เอกราชคืนจากไทย ได้พยายามจะวางรากฐานเมืองใหม่ โดยเฉพาะเมืองพานพร้าว ซึ่งเคยเป็นปราการด่านหน้าของเวียงจันทน์ ก็ยังให้ความสำคัญเช่นเดิม

จนถึง พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เริ่มทำการกบฎต่อไทย ถึงกับยกทัพชาวลาวเวียงจันทน์ลงไปกวาดต้อนเอาชาวเวียงจันทน์ในเขตหัวเมือง ของไทยกลับมาเวียงจันทน์ แต่ไปแพ้อุบายของไทยที่นครราชสีมา ทัพลาวจึงหนีคืนมาเวียงจันทน์ดังเดิม รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ พลเสพ แม่ทัพหลวงยกทัพมาตีเวียงจันทน์อีกครั้งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๐ ทัพหลวงไทยมาตั้งมั่นที่ "ค่ายพานพร้าว" (บริเวณ นปข.หนองคายปัจจุบัน) โดยเจ้าอนุวงศ์พร้อมเชื้อพระวงศ์จำนวนหนึ่งหลบหนีออกจากเวียงจันทน์ไปได้ ขณะรอการค้นหาองศ์เจ้าอนุวงศ์อยู่ที่ค่ายพานพร้าวสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงเห็นว่าใกล้ฤดูฝนจะตามตัวเจ้าอนุวงศ์ คงไม่ได้ จึงส่งพระราชสาสน์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ขอยกทัพกลับกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงการค้นหาพระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ ดังนี้
"พระบางหายไปสืบหายังไม่ได้ ได้แต่พระเสริม พระใส พระสุก พระแซ่คำ(แทรกคำ) พระแก่นจันทน์ พระสรงน้ำ พระเงินหล่อ พระเงินบุ รวม ๙ องค์ แต่จะเอาลงไปกรุงเทพมหานครได้แต่พระแซ่คำองค์หนึ่ง" พระพุทธรูปที่จัดส่งไปกรุงเทพมหานครไม่ได้นั้น ได้ก่อพระเจดีย์ ณ ค่ายหลวงเมืองพานพร้าว ซึ่ง รัชกาลที่ ๑ เคยสร้างไว้ เมื่อครั้งปราบเวียงจันทน์ครั้งแรก โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทหารในกองทัพรื้อกำแพงเมืองด้านศรีเชียงใหม่มาสร้าง มีฐานกว้าง ๕ วา สูง ๘ วา ๒ ศอก แล้วจะจารึกพระนามว่า "พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์" เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการะเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วทรงให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุญยรัตพันธ์) สมุหนายกมหาดไทยคุมค่ายพานพร้าวแทน แต่อสัญกรรมด้วยไข้ป่าที่นี่ จึงเลื่อนพระยาราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้าประจำค่ายพานพร้าวแทน

จากค่ายพานพร้าวถึงค่ายบกหวานก่อนอวสานเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์กลับคืนเวียงจันทน์หลังจากหนีไปพึ่งญวน โดยมินมางหว่างเด๊ จักรพรรดิญวนส่งพระราชสาสน์ถึงรัชกาลที่ ๓ ขอพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าอนุวงศ์ ทั้งให้ทหารญวนคุมเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวมายังเวียงจันทน์ พวกทัพหน้าค่ายพานพร้าววางใจจึงให้พักอยู่ที่หอคำดังเดิมแต่ไม่ถึงสัปดาห์ วันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ทหารญวนและลาวลอบฆ่าทหารไทยในเวียงจันทน์ตายไปกว่า ๓๐๐ คน เหลือรอดเกาะขอนไม้ข้ามแม่น้ำโขงกลับมาค่ายพานพร้าวได้ ๔๐ - ๕๐ คน พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนีย์) จึงถอยทัพออกจากค่ายพานพร้าวมาตั้งมั่นที่ "ค่ายบกหวาน" (ตำบลค่ายบกหวาน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ปัจจุบัน)ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์นำทัพข้ามมารื้อพระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์ ที่ค่ายพานพร้าวแล้วนำพระพุทธรูป (8 องค์) กลับคืนเวียงจันทน์ และให้เจ้าราชวงศ์ (เจ้าเหง้า) ตามตีค่ายบกหวานของไทยแตก แม่ทัพไทยบาดเจ็บถอยทัพไปยโสธรจึงได้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) อุปฮาดยโสธร ลูกหลานพระวอ - พระตา นำกำลังเข้าสมทบยกทัพกลับมายึดค่ายบกหวาน และค่ายพานพร้าวคืนได้ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนเจ้าราชวงศ์ (เจ้าเหง้า) โอรสเจ้าอนุวงศ์บาดเจ็บทหารหามออกจากสนามรบและสูญหายไปในคราวนั้นเอง ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์หนีไปเวียดนามอีกครั้งแต่ถูกเจ้าน้อยเมืองพวน (เชียงขวาง) จับส่งกองทัพไทยเสียก่อนกลางทางเวียงจันทน์ถูกทำลายทั้งกำแพง ป้อมเมือง และหอคำ (พระราชวัง) เหลือไว้แต่วัดวา อารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประจำเมืองพร้อมทั้งกวาดต้อนเอาชาวเวียงจันทน์มาไว้ฝั่งไทยจนเกือบหมดเหลือ แต่พวกข้าพระเลกวัดที่มีหน้าที่ดูแลวัดวาอาราม เท่านั้น
เมืองหนองคาย (บึงค่าย - บ้านไผ่)
บริเวณที่ตั้งของตัวอำเภอเมืองหนองคายปัจจุบัน ในอดีตเป็นเพียงชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ เรียกว่า "บ้านไผ่" และน่าจะเป็นชุมชนหมู่บ้านในเขตการปกครองของเมืองเวียงคุก ของอาณาจักรล้านช้าง เมื่อกองทัพไทยยกทัพมาปราบเจ้าอนุวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๔๗๑ และตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายพานพร้าวฝั่งตรงข้ามกับเวียงจันทน์ ภายหลังหลงกลข้าศึกจึงทิ้งค่ายพานพร้าวมาตั้งมั่นที่ "ค่ายบกหวาน" ห่างจากค่ายพานพร้าวมาทางใต้ ๕๐ กิโลเมตร ภายหลังเมื่อรบชนะเจ้าอนุวงศ์ จึงมีการตั้งเมืองใหม่แทนที่เมืองเวียงจันทน์ ซี่งกองทัพไทยได้ทำลายจนไม่เหลือให้เป็นที่ตั้งมั่นของชาวลาวล้านช้างได้อีก ต่อไป
บึงค่ายที่มาของเมืองหนองค่าย ค่ายบกหวานซึ่งเหมาะสมทั้งตำแหน่งสถานที่และจุดประสงค์ในการย้ายฐานการ ปกครองจากที่เก่า (เวียงจันทน์ - พานพร้าว) มายังแห่งใหม่ เมื่อรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ยุบยกเลิก "พระเจ้าประเทศราชเวียงจันทน์" และเวียงจันทน์ให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนีย์) เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา สมุหนายกมหาดไทยและให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นแทนที่เวียงจันทน์ในคราวนั้นด้วย ซึ่งทั้งพระโหราธิบดีและกรมพระอาลักษณ์คงคิดผูกศัพท์ฤกษ์ชัยแล้ว โดยใช้ค่ายบกหวานเป็นนิมิต ดังนี้คือ ค่ายนี้ไม่ติดแม่น้ำทหารจึงต้องอาศัยน้ำจากหนองบึงมาบริโภค หนองบึงนั้นคงเรียกกันในคราวนั้นว่า "บึงค่าย" หรือ "หนองค่าย" เป็นที่ตั้งของทหารไทยจนรบชนะเวียงจันทน์ถึงสองครั้งคือ พ.ศ. ๒๓๒๑ และ พ.ศ. ๒๓๗๑ จึงได้ชื่อเมืองใหม่แห่งนี้ว่า "เมืองหนองค่าย" เมื่อถือหนองน้ำเป็นนิมิตเมือง จึงถือเป็น "นาคนาม" ที่เหนือกว่า "จันทบุรี สัตนาคนหุต อุตมราชธานี" ของเวียงจันทน์ที่ถือนิมิตพญาช้าง และไม้จันทน์หอม (ใช้บูชาเทพเจ้าของลัทธิพราหมณ์) ดังนั้นนักปราชญ์ไทยจึงได้ใช้ "ดอกบัว" ซึ่งเป็นไม้พุทธอาสน์ (อาสนะพระพุทธเจ้า) และเป็นไม้น้ำตามนิมิตชื่อเมืองหนองคาย และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เป็น "พระปทุมเทวาภิบาล" เมืองหนองคาย (นิมิตนามเจ้าเมืองแปลว่า "เทวดาผู้รักษาดอกบัว") ทั้งนี้เพื่อเป็นการข่มดวงเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต นั่นเอง
เมื่อได้ชื่อเมืองแล้ว จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านไผ่ ริมแม่น้ำโขงโดยตั้งกองทหารส่วนหน้าอยู่บริเวณศาลากลาง (หลังที่ ๑ และ ๒ เดิม) มีถนนสายหนึ่งเรียกว่า "ถนนท่าค่าย" สืบมา ทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองลาวล้านช้าง ทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวาแทนเวียงจันทน์ราษฎรเมืองหนองคายส่วนใหญ่คือชาวลาว เวียงจันทน์นั่นเอง ถือเป็นเมืองเอก ๑ ใน ๑๕ เมือง รวมเมืองขึ้น ๕๒ เมือง หลังปราบศึกเจ้าอนุวงศ์ฯ ยุบประเทศราชเวียงจันทน์แล้วหนองค่ายจึงมีบทบาททางการเมืองการปกครองมากที่ สุดในหัวเมืองภาคอีสาน และเป็นที่มั่นด่านหน้าของทัพไทยในการทำสงครามกับญวน ต่ออีก ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๓๗๑ - ๒๓๘๖)
ซึ่งจักรพรรดิมินมางหว่างเด๊ ของญวนเป็นพันธมิตรกับเจ้าอนุวงศ์ ทั้งมีอาณาเขตติดกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) สมุหนายกมหาดไทย จึงยกทัพรบญวนจนถึงไซ่ง่อน โดยมีเมืองหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ช่วยสกัดทัพด้านนี้แทน รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่าราษฎรเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ - จำปาศักดิ์ ต่างระส่ำระสาย เพราะบ้านเมืองกลายเป็นสมรภูมิ จึงทรงมีรัฐประศาสน์นโยบายให้เจ้าเมืองพาราษฎรอพยพมายังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยพระราชทานที่ทำกินและสืบตระกูลได้ จึงปรากฏว่ามีชาวเมืองพวนจากแคว้นเชียงขวางและชาวญวน อพยพมาอยู่ฝั่งหนองคายมากขึ้น รวมทั้งนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี สกลนคร ที่มีชาวเมืองกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานจนถึงปัจจุบัน เช่น พวน ผู้ไทย ญวน โส้ บรู และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ (ข่า) ในลาว ก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ตามภาคอีสานด้วยเช่นกัน

หนองคายกับศึกฮ่อ ครั้งที่ ๑ และ๒
ในรัชกาลที่ ๕ ชื่อเมืองหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็นเมืองหนองคายแทน เจ้าเมืองคือพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) สืบต่อจากพระปทุมเทวาภิบาล(ท้าวสุวอ) ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ต่อมาเกิดศึกฮ่อที่ชายแดนติดต่อกับญวน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) ลงไปราชการที่เมืองอุบลราชธานี ต้อนรับพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งไปตั้งกองสักเลกและเร่งรัดเงินส่วยที่หัวเมืองพอดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เกณฑ์ทัพไปปราบฮ่อทันที พอไปถึงหนองคาย ทราบว่ากรมการเมืองหนองคายและโพนพิสัยกลัวฮ่อจนหลบหนีไปไม่ยอมสู้รบ ปล่อยให้ฮ่อบุกเข้ามาจนถึงเวียงจันทน์ จึงสั่งให้หาตัวกรมการเมืองที่หลบหนีศึกฮ่อในครั้งนั้นทั้งเมืองหนองคายและ โพนพิสัยมาประหารชีวิตเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ฝ่ายกองทหารฮ่อฮึกเหิมบุกเวียงจันทน์จุดไฟเผาลอกเอาทองจากองค์พระธาตุหลวง ได้แล้วยังบุกข้ามโขงจะตีเมืองหนองคาย แต่ถูกกองทัพเมืองหนองคายตีกลับอยู่ที่บริเวณตำบลมีชัยปัจจุบัน ซึ่งได้เรียกบริเวณไทยรบชนะฮ่อในครั้งนั้นว่า "ตำบลมีชัย" เพื่อเป็นอนุสรณ์แล้วขึ้นไปตีศึกฮ่อจนถอยร่นไปทางทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน) เหตุการณ์ก็สงบลงจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงเกิดศึกฮ่อครั้งที่ ๒ คราวนี้มีพวกไทดำ พวน ลาว ข่า เข้าสมทบกับโจรฮ่อฉวยโอกาสปล้นทรัพย์สิน เสบียงอาหารและเผาเรือนราษฎร โดยบุกยึดมาตั้งแต่ทุ่งเชียงขวางจนเข้าเวียงจันทน์
การปราบศึกฮ่อครั้งที่ ๒ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ทัพฝ่ายเหนือและทัพฝ่ายใต้ยกเข้าตีขนาบฮ่อทั้งทางหลวงที่หลวงพระบางและ เวียงจันทน์ โดยทัพฝ่ายใต้ให้พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (ยศในขณะนั้น) คุมทัพมาทางนครราชสีมา เข้าเมืองหนองคายแล้วทวนแม่น้ำโขงเข้าทางแม่น้ำงึมโดยเรือคำหยาด บุกค่ายฮ่อ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม จนมีชัยชนะ จากนั้นคุมเชลยฮ่อมาขังไว้ที่ระหว่างวัดศรีสุมังค์และวัดลำดวน จึงเรียก "ถนนฮ่ฮ" มาถึงทุกวันนี้และโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ" เพื่อบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตในสงครามปราบฮ่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ไว้ที่เมืองหนองคายด้วย
เมืองหนองคายสมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอีสาน
เมืองหนองคาย กลายเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ เจ้าเมืองหนองคายเดิมจึงมีบทบาทลดน้อยลง (ต่อมาเปลี่ยนเรียกหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ เป็นมณฑลลาวพวน) พ.ศ. ๒๔๓๔ พันเอกกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสด็จกลับมาว่าราชการเป็นข้าหลวงต่างพระองศ์ที่เมืองหนองคายเพราะหัวเมือง ด้านนี้ล่อแหลมต่อการปะทะกับฝรั่งเศสที่ได้มาตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่ เวียงจันทน์ด้วยเช่นกันแต่ต้องย้ายกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑล ลาวพวนมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เพราะฝรั่งเศสยื่นคำขาดไม่ให้ตั้งกองทหารภายในเขตชายแดน ๒๕ กิโลเมตร (บ้านเดื่อหมากแข้งห่างจากเมืองหนองคาย ๕๑ กิโลเมตร) ฝ่ายราษฎรทางฝั่งขวาเม่น้ำโขง เห็นฝรั่งเศสได้อาณาจักรเวียงจันทน์เดิมไปจึงพร้อมใจกันอพยพมาอยู่ฝั่งซ้าย ของไทยมากกว่าครึ่งเมือง คือ พระศรีสุรศักดิ์ (คำสิงห์) เจ้าเมืองบริคัณฑนิคมมาอยู่บ้าน "หนองแก้ว" เป็นเจ้าเมืองรัตนวาปี พระกุประดิษฐ์บดี (ชาลี, สาลี) เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) อพยพมา "บ้านท่าบ่อเกลือ" เป็นเจ้าเมืองท่าบ่อเกลือ (อำเภอท่าบ่อปัจจุบัน) เป็นต้น ส่วนเมืองหนองคายได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองมาเป็น "ข้าหลวงประจำเมืองหนองคาย" สมัยนั้นคือ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์(จันทน์ อินทรกำแหง) ส่วนราชทินนาม "พระปทุมเทวาภิบาล" ให้ท้าวเสือ ณ หนองคาย เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) ซึ่งต่อมาเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ตามข้อบังคับการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๗๗ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเขตการปกครอง เป็นเขตการปกครองพิเศษบริเวณดินแดนมณฑลลาวพวนแยกเป็นบริเวณหมากแข้งขึ้นกับ เมืองหนองคายซึ่งอยู่ที่อำเภอมีชัย โดยให้นายอำเภอหมากแข้งรายงานต่อผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย แต่ถ้าเรื่องเกินอำนาจให้รายงานกลับไปยังข้าหลวงประจำบริเวณและข้าหลวงต่าง พระองค์ ส่วนเรื่องทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กราบทูลโดยตรงกับข้าหลวงต่างพระองค์ จนกระทั่งแยกการปกครองเป็นมณฑลอุดร ยุบเลิกเมืองจัตวาในบริเวณมณฑลอุดรเป็นอำเภอและขึ้นกับเมืองอุดรธานีรวมทั้ง "อำเภอเมืองหนองคาย" ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐
ต่อมาอำเภอเมืองหนองคาย ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดหนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ มีอำเภออยู่ในการปกครอง ๖ อำเภอ คือ อ.สังคม อ.บ้านผือ อ.ท่าบ่อ อ.โพนพิสัย อ.พานพร้าว และอ.น้ำโมง และมีการปรับยุบเมืองที่เคยเป็นอำเภอลดฐานะลงเป็นตำบลแทน เช่น อำเภอมีชัย เมืองหนองคาย เป็น "ตำบลมีชัย" อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นต้น
…………………………………..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น